‘เอกนิติ’ ชี้ไทยต้อง ‘ผลัดใบเศรษฐกิจ’ มุ่งพัฒนา 3 ด้าน เพิ่มรายได้ประเทศ

‘เอกนิติ’ ชี้ไทยต้อง ‘ผลัดใบเศรษฐกิจ’ มุ่งพัฒนา 3 ด้าน เพิ่มรายได้ประเทศ

“เอกนิติ” ชงนายกฯ เศรษฐกิจไทยต้องผลัดใบ ยกระดับเทคโนโลยีเกษตร หนุนโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมด้วย Big Data และพลังงานสะอาด ดันท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและท่องเที่ยวรายได้สูง ตั้งเป้าค่าใช้จ่ายต่อคนเพิ่มเป็น 8,000 บาทต่อคนต่อวัน รองรับปัญหาแรงงานสูงวัย ขาดแคลน คุณภาพต่ำ

อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาของไทยลดลงต่อเนื่อง จากที่เคยขยายตัวเฉลี่ยปีละ 9.3% ในยุคทศวรรษปี 40 แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยทได้ 4.8% ขณะที่ทศวรรษที่ 50 โตเฉลี่ย 3.1% และในยุคปัจจุบัน ทศวรรษที่ 60 เหลือแค่ 2% จนเกิดคำถามว่า "เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย" 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวช่วงหนึ่งในการแถลงผลการศึกษา ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 66 ต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ “ผลัดใบเศรษฐกิจ” ว่าทำไมประเทศไทยเราต้อง “ผลัดใบเศรษฐกิจ” 
 

ประเทศไทยไม่ได้มีการลงทุนมานาน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติในปี 2540 ที่มีการลงทุนคิดเป็น 40% ของ GDP แบ่งเป็น ภาครัฐ 7.7% และเอกชน 31.3% แต่ช่วงหลังวิกฤติ การลงทุนเหลือแค่ 20% เท่านั้น หายไปครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะจากการลงทุนภาคเอกชน

นอกจากนั้น เครื่องจักรการผลิตที่ไทยกำลังใช้เป็นเครื่องจักรการลงทุนเก่าที่ผลิตอะไรที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดโลก แถมยังมีปัญหากำลังแรงงานในอนาคตที่ไม่เพียงพอ ด้วยโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนไป จากอัตราการเกิดที่ลดลงขณะที่อายุเฉลี่ยประชากรยืนยาวขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระในการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น จากแรงงานต่อผู้สูงอายุ 4.5 : 1 คน เหลือ 2.5 : 1 คน ในปี 2570

นอกจากสถานการณ์แรงงานไทยที่ไม่เพียงพอแล้ว กำลังแรงงานไทยยังไม่มีคุณภาพ ซึ่งสะท้อนจากโครงสร้างกำลังแรงงานไทยที่เน้นการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ขณะที่เวียดนามมีสัดส่วนแรงงานที่จบการศึกษาระดับอาชีวะศึกษาถึง 31% จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมนักลงทุนต่างชาติจึงเลือกไปลงทุนในเวียดนาม เพราะเวียดนามมีแรงงานที่มีทักษะสมัยใหม่ เช่น AI ดิจิทัล วิศวกร วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย จะพบว่า ไทยพึ่งพาภาคบริการ 62.2% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม 31.5% และการเกษตร 6.3% ขณะที่กำลังแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรถึง 12 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของแรงงานทั้งหมด แต่กลับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจได้เพียง 6% เท่านั้น นั่นหมายความว่าแรงงานมีน้อย แล้วยังอยู่ไม่ตรงที่อีกต่างหาก

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าหากเราไม่ปรับเปลี่ยน เราจะเสื่อมถอยลงในอัตราเร่ง”

สิ่งที่นักศึกษา วปอ.รุ่น 66 ต้องการเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลก็คือคือ “ผลัดใบเศรษฐกิจ” ประกอบด้วย

1.ผลัดใบเกษตร เพิ่มการลงทุนเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำเกษตรแม่นยำ (Precision) โดยให้เกิดการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐท้องถิ่นและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาท้องถิ่นในการช่วย Upskill และ Reskill ให้เกษตรกร เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกจากนี้ ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเกษตร เช่น อาหารสุขภาพ ออร์แกนิค

2.ผลัดใบอุตสาหกรรม มุ่งสู่ Industry 5.0 และ AI การใช้ระบบออโตเมชันและ Internet of Thing โดยจะต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน Big Data และพลังงานสะอาด เปิดรับทาเลนท์เก่งๆ จากทั่วโลกให้เข้ามาทำงานในไทย ด้วยวีซ่าพิเศษ และการพัฒนาทักษะคนไทยด้านดิจิทัล เอไอ และดาต้า

“ผมคิดว่าการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในเฟสต่อไปควรจะพ่วงเรื่องการพัฒนาทักษะเพื่ออนาคตไปด้วย เช่นเดียวกับที่รัฐบาลสิงคโปร์ให้เครดิตแรงงานเลือกเรียนอะไรก็ได้ โดยเอกชนเป็นผู้พัฒนาหลักสูตร”

3.ผลัดใบบริการ ต่อยอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน สนามบินภูมิภาค และเชื่อมโยงการเดินทางทั้งรถ ราง และสนามบินให้ได้ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค 

นอกจากนั้นต้องใช้จุดแข็งในเรื่องบริการทางการแพทย์ยกระดับธุรกิจ Wellness Tourism และก้าวข้ามการท่องเที่ยวพื้นฐานไปสู่การท่องเที่ยว High End โดยจะต้องตั้งเป้านอกจากจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว ให้เน้นรายจ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็น 8,000 บาทต่อคนต่อวัน เชื่อว่าใน 3 ปีทำได้

“ซึ่งถ้าเราผลัดใบทั้ง 3 ด้านสำเร็จแล้ว ก็เชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจากโตเฉลี่ย 2% เป็น 4.5% อยู่ดีกินดี มีความสุขที่ประเทศไทย”นายเอกนิติ กล่าว