เปิด 10 บริษัท ‘คลัง’ ถือหุ้นสูงสุด ศึกษาแผนขายดึงเงินจัดงบดันนโยบายรัฐบาล

เปิด 10 บริษัท ‘คลัง’ ถือหุ้นสูงสุด ศึกษาแผนขายดึงเงินจัดงบดันนโยบายรัฐบาล

เปิด 10 บริษัท ที่ “คลัง” ถือหุ้นสูงสุด จับตาแผนขายหุ้นกิจการที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ สร้างแหล่งเงินใหม่ของรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบาย สคร.ชี้บางบริษัทเป็นภาระต้องเข้าไปดูแล

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย.2567 โดยรัฐบาลกำหนดเป้าหมายของนโยบายให้ประเทศไทยพ้นจากกับกัดรายได้ปานกลางและเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจในเวทีโลก

ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 9 ข้อ อาทิ การแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ , การลดค่าพลังงานและสาธารณูปโภค , การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ , การนำธุรกิจนอกขึ้นบนดิน และสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลง โดยเป็นนโยบายที่ต้องใช้ “เงินทุน” มหาศาล

ขณะนี้รัฐบาลมีแผนที่หาแหล่งรายได้เพื่อมาใช้ดำเนินการนโยบาย ประกอบด้วย 4 แนวทาง คือ

1.ภาครัฐอาจออก พ.ร.ก.ในการแก้กฎหมายกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพื่อเปิดทางให้ดึงเงินสมทบที่สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ที่ 0.46% หรือ 0.23% เพื่อดึงเงินส่วนนี้เป็นแหล่งเงินทุนของภาครัฐชั่วคราว เพื่อใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาหนี้ในปัจจุบัน

2.การขายหุ้นบริษัทที่กระทรวงการคลังถือ โดยเป็นหุ้นที่ไม่ใช้รัฐวิสาหกิจเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นมาจัดสรรเป็นงบประมาณเพื่อดำเนินการนโยบายของรัฐบาล 

3.การจัดหารายได้เพิ่มเติมของรัฐบาลในเรื่องของการนำเอาเศรษฐกิจนอกระบบภาษี และเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี โดยคาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 50% ของ GDP โดยรัฐบาลจะนำมาเป็นรายได้ของรัฐ เพื่อจะนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษาสาธารณสุข และสาธารณูปโภค

4.รายได้รัฐที่มาจากเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่นอกจากกาสิโนแล้วจะมีส่วนประกอบอื่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ 

เปิด 10 บริษัท ‘คลัง’ ถือหุ้นสูงสุด ศึกษาแผนขายดึงเงินจัดงบดันนโยบายรัฐบาล

ทั้งนี้ หากโดยปัจจุบันมี 36 บริษัท มูลค่า 796,635 ล้านบาท ครอบคลุมหลายธุรกิจ และ 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 

1.ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ถือหุ้น 11.74% มูลค่า 26,556 ล้านบาท 

2.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  ถือหุ้น 100% มูลค่า 9,124 ล้านบาท 

3.บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 4.76% มูลค่า 2,633 ล้านบาท

4.บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ถือหุ้น 5.30% มูลค่า 2,037 ล้านบาท 

5.บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR  ถือหุ้น 1.28% มูลค่า 1,993 ล้านบาท 

6.บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 22.13% มูลค่า 1,879 ล้านบาท

7.บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ถือหุ้น 4.10% สัดส่วน 1,360 ล้านบาท 

8.บริษัทสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ถือหุ้น 84.08% มูลค่า 687 ล้านบาท 

9.บริษัทเบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 10.80% มูลค่า 653 ล้านบาท 

10.บริษัทไสวประภาสและบุตร จำกัด ถือหุ้น 44.00% มูลค่า 410 ล้านบาท

สำหรับการขายหุ้นของบริษัทที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเป็นแนวทางที่กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา โดยเห็นว่าหุ้นหลายบริษัทไม่จำเป็นที่กระทรวงการคลังจะต้องถือไว้

ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการจำหน่ายหุ้นของกระทรวงการคลัง โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นประธาน

รวมทั้งมีการประชุมครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค.2567 เพื่อพิจารณากรอบแนวทางการจำหน่ายหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ โดยครั้งนี้ เป็นการพิจารณากรอบการขายหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวว่า หุ้นบางตัวนอกจากจะไม่สร้างรายได้เพิ่ม ในทางกลับกันยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลอีกด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางที่จะทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการถือหลักทรัพย์ดังกล่าว