“ยานยนต์ไร้คนขับ”ใกล้ได้ใช้จริง6ปัจจัยจำเป็นเปลี่ยนชีวิต-ศก.ผู้บริโภค

“ยานยนต์ไร้คนขับ”ใกล้ได้ใช้จริง6ปัจจัยจำเป็นเปลี่ยนชีวิต-ศก.ผู้บริโภค

การขับเคลื่อนอัตโนมัติ รวมถึงยานยนต์อัตโนมัติและไร้คนขับ หรือยานยนต์ไร้คนขับ เป็นความฝันของมนุษย์มาหลายศตวรรษ ปัจจุบันดูเหมือนว่าการพัฒนากำลังจะใกล้ความจริงแล้ว

ข้อมูลจาก สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) เผยแพร่บทความที่ระบุว่า หลังจากการทดลองหลายเดือน ตอนนี้ แท็กซี่ไร้คนขับ สามารถจองได้แล้วในเมืองต่างๆ เช่น ปักกิ่งและซานฟรานซิสโก

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่การขับเคลื่อนทางอากาศ ผู้ผลิตเครื่องบินหลายรายกำลังทำงานร่วมกับ สำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐ (FAA) และองค์กรอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อรับรอง เครื่องบินไร้คนขับ ด้วย

WEF ได้รวบรวมผู้นำจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนใน Global Future Council on the Future of Autonomous Mobility เพื่อทำความเข้าใจในแง่มุมเหล่านี้ให้ดีขึ้นจากอนาคตของการเดินทางอัตโนมัติและไร้คนขับที่รับผิดชอบทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน ซึ่งสามารถแยกเป็นหัวข้อต่างๆดังนี้ 

1. คุณภาพชีวิต ซึ่งมุ่งการพัฒนาที่ส่งเสริมการพัฒนาและการใช้งานที่เน้นที่มนุษย์มากกว่าเน้นที่เทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น สามารถให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าในเมืองและลดเสียงรบกวนจากการเดินทางทางอากาศให้เหลือน้อยที่สุด

2. การเดินทางหลายรูปแบบ การศึกษานี้ไม่ได้มุ่งไปที่การเดินทางไร้คนขับในสุญญากาศ แต่ควรเชื่อมต่อกับเครือข่ายตัวเลือกการขนส่งที่มีคุณภาพสูงที่มีอยู่ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะแบบดั้งเดิม ทางทะเล ราง จักรยาน และการเดิน โดยเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตในเมืองได้โดยการส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างรูปแบบต่างๆ ในลักษณะบูรณาการเพื่อลดความแออัดและการใช้พลังงาน

3. ความเท่าเทียมทางสังคมและการเข้าถึง การเดินทางอัตโนมัติควรเปิดโอกาสให้กับชุมชนที่ไม่ได้รับการบริการเพียงพอ ไม่ใช่แค่มอบผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคนที่ได้รับสิทธิพิเศษเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ตัวอย่างเช่น โดรนสามารถทำหน้าที่เป็นประตูสู่การเพิ่มคุณภาพการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานในพื้นที่ชนบทได้ ซึ่งนำร่องในโครงการ Medicine from the Skyproject ในอินเดีย 

“ความเท่าเทียมทั่วไปหรือเป้าหมายผ่านการใช้งานไมโครโมบิลิตี้โดยมุ่งไปที่ราคาถูกกว่าและเข้าถึงได้ง่ายกว่ามาก”

4. กำลังคน เทคโนโลยีเหล่านี้ยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนนักบินและคนขับรถบรรทุกในหลายส่วนของโลกได้ ตัวอย่างเช่น Oliver Wyman ประมาณการว่าอเมริกาเหนือจะขาดแคลนนักบิน 24,000 คนในปี 2026

“ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีจะมาแทนคน และคนจะตกงานแต่ในความเป็นจริงคนงานในภาคขนส่งจะสามารถเพิ่มทักษะและขยับไปมีบทบาทเป็นผู้ควบคุมเทคโนโลยี หรือ บำรุงรักษาระบบอัตโนมัติเหล่านี้แทน"

5. ความปลอดภัย ความมั่นคง และความเป็นส่วนตัว ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติควรรับประกันความปลอดภัย ความมั่นคง และความเป็นส่วนตัวภายในและนอกระบบขนส่งอัตโนมัติ

ความปลอดภัยหมายถึงการหลีกเลี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุ เช่น ข้อผิดพลาด (จากมนุษย์หรืออื่นๆ) ที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ 

อย่างไรก็ตาม ข้อผิดพลาดของมนุษย์จะไม่ถูกกำจัดไปทั้งหมด ข้อผิดพลาดของมนุษย์ในการทำงานจะถูกแทนที่ด้วยข้อผิดพลาดของมนุษย์ในการเขียนโค้ด ดังนั้น การรักษาปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงมีความสำคัญพอๆ กับการสร้างมันขึ้นมา

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ มาตรฐานและระเบียบข้อบังคับต้องทำให้ใช้งานการเคลื่อนที่อัตโนมัติได้อย่างปลอดภัย ซึ่งหมายถึงการหลีกเลี่ยงอันตรายโดยเจตนา ภัยคุกคามจากการโจมตีทางไซเบอร์  ด้านความเป็นส่วนตัวก็จำเป็นซึ่งในที่นี้ หมายถึงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพราะระบบที่ว่านี้ต้องมีเซ็นเซอร์และกล้องจำนวนมากในการเคลื่อนที่อัตโนมัติควบคู่ไปด้วย

6. การปล่อยมลพิษและการใช้พลังงาน ต้องอยู่ในแผนการพัฒนาระบบอัตโนมัติที่มีเป้าหมายว่าด้วยความยั่งยืนและการใช้พลังงานอย่างกว้างขวาง

สำหรับการตอบรับเทคโนโลยีด้านการขนส่งอัตโนมัติในประเทศไทยก็อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเช่นกัน ข้อมูลจากบทความโดย ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ สถาบันยานยนต์ประจำเดือน ม.ค. 2565 ระบุถึงโครงการจัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle: AV) ว่าการพัฒนาและสร้างภาคีเครือข่ายธุรกิจ (Business Alliance) ยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ และมีผลการดำเนินโครงการ ดังนี้ 

กิจกรรมที่ 1การจัดทำกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ มีขั้นตอนการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ดังนี้ขั้นตอนที่หนึ่งการวิเคราะห์ปัจจัยขับเคลื่อนของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เชื่อมต่อและการขับขี่อัตโนมัติ

ขั้นตอนที่สองการวิเคราะห์ศักยภาพของ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ใช้ SWOT analysis เป็นเครื่องมือการวิเคราะห์ และแบ่งประเด็นเป็น 7 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านสังคม (Social)
  2. ด้านเทคโนโลยี (Technology)
  3. ด้านทรัพยากร (Resource)
  4. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
  5. ด้านนโยบายภาครัฐ (Policy)
  6. ด้านกฎหมายและระเบียบ (Legal)
  7. ด้านเศรษฐศาสตร์ (Economic)

ผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นจุดแข็ง (Strengths) จุดอ่อน (Weaknesses) โอกาส (Opportunities) และภัยคุกคาม (Threats) ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในการพัฒนาในประเด็นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ

ขั้นตอนที่สาม การวิเคราะห์ระบบนิเวศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลจากแบบสอบถาม ที่ให้ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ประเมินความพร้อมของระบบนิเวศน์ (Ecosystem) 

เมื่อเร็วๆนี้ ชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนาถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบเครือข่าย “MOT Moving Forward to Autonomous Transport”  พร้อมระบุว่ากระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาคมนาคมดิจิทัล 2027 ขึ้น เพื่อยกระดับคมนาคมของไทยสู่ระบบดิจิทัล และก้าวสู่ยุคคมนาคมขนส่งแบบอัตโนมัติต่อไป 

ดังนั้น จึงเน้นการนำเทคโนโลยีระบบเครือข่ายที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งแผนพัฒนาคมนาคมดิจิทัลฯ เป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งที่ Smart ยิ่งขึ้นต่อไป

“ การถ่ายทอดนโยบายและเทคโนโลยีระบบเครือข่ายที่ทันสมัย นำเสนอทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีระบบเครือข่าย ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) และแนวโน้มการพัฒนา Autonomous Transport ทั้งในและต่างประเทศ”

แม้ผลกระทบต่อการขับเคลื่อนอัตโนมัติยังคงไม่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะมองเห็นได้ คือ เทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัตโนมัติอาจเปลี่ยนแปลงวิธีการเคลื่อนที่ของผู้คนและสิ่งของได้ ซึ่งอาจทำให้การเลือกที่อยู่อาศัย หรือ ที่ทำงานเปลี่ยนไปรวมถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวมนุษย์จากนี้อาจเปลี่ยนไป

“ยานยนต์ไร้คนขับ”ใกล้ได้ใช้จริง6ปัจจัยจำเป็นเปลี่ยนชีวิต-ศก.ผู้บริโภค