เปิดเหตุผล ครม.เคาะงบกลาง 1.4 พันล้าน จ่ายค่า K ช่วยเศรษฐกิจอย่างไร ?

เปิดเหตุผล ครม.เคาะงบกลาง 1.4 พันล้าน จ่ายค่า K ช่วยเศรษฐกิจอย่างไร ?

“คมนาคม” เสนอ ครม.เคาะงบประมาณรายจ่ายงบกลาง 2 เดือนติด รวม 1,400 ล้านบาท จ่ายชดเชยค่า K งานก่อสร้างให้ผู้รับเหมา หวังเสริมสภาพคล่องเอกชน หมุนเงินลงทุนหลายโครงการค้างท่อ เชื่อเป็นส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อจ่ายเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) รวมวงเงินราว 1,400 ล้านบาท แบ่งเป็น

27 ส.ค.2567 ครม. มีมติอนุมัติงบกลาง วงเงิน 600.35 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินชดเชยค่างานก่อสร้างของกรมทางหลวง

24 ก.ย.2567 ครม. มีมติอนุมัติงบกลาง วงเงิน 799.90 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินชดเชยค่างานก่อสร้างของกรมทางหลวง

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า การจ่ายชดเชยค่า K ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้รับเหมา โดยหากภาครัฐจ่ายเงินส่วนนี้จะทำให้ผู้รับเหมาสามารถนำเงินไปลงทุนเร่งรัดโครงการก่อสร้างที่ยังค้างอยู่ให้แล้วเสร็จตามแผน โดยเฉพาะโครงการบนถนนพระราม 2 ที่พบว่าล่าช้า และผู้รับเหมาหลายรายเป็นหนึ่งในคู่สัญญาที่ต้องได้รับเงินชดเชยค่า K

ดังนั้นการที่รัฐบาลเร่งจ่ายงบ กลางส่วนนี้ เพื่อไปชดเชยค่า K จะให้ผู้รับเหมามีสภาพคล่อง และสามารถลงทุนจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำมาเร่งรัดงานก่อสร้าง นอกจากนี้จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนด้านการลงทุน มีการจัดซื้อสินค้า และการจ้างงาน เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจภายในประเทศ

สำหรับความหมายของค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยข้อมูลไว้ว่า Escalation Factor หรือ “ค่า K” คือ ตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน ณ ระยะเวลาที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเปิดซองประกวดราคาได้ เปรียบเทียบกับระยะเวลาที่ส่งงานในแต่ละงวด โดยมีเงื่อนไขสำคัญ ดังนี้

1. จะใช้ “ค่า K” ได้เฉพาะในกรณีที่ผู้รับเหมารับงานจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นเท่านั้น

2. ในการทำสัญญาว่าจ้าง คู่สัญญาจะต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่า เป็นสัญญาแบบปรับราคาได้ในการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้าง

โดย ค่า K เริ่มนำมาใช้ในช่วงปี 2516 - 2517 เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ น้ำมัน และวัสดุก่อสร้างสำคัญขาดแคลน และราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจก่อสร้างโดยตรง และรุนแรง ผู้รับเหมาต่างได้รับความเดือดร้อน บางรายหยุดดำเนินการ บางรายละทิ้งงาน เพราะไม่สามารถรับภาระขาดทุนได้ ขณะเดียวกัน ผู้จ้างเหมาก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ในช่วงปีดังกล่าว ครม.จึงมีมติให้นำค่า K มาใช้ เพื่อช่วยเหลือผู้รับเหมาให้ได้รับการชดเชยค่าเสียหาย

สำหรับองค์ประกอบค่า K มีตัวแปรต่างๆ ดังนี้

M = ดัชนีราคาสินค้าวัสดุก่อสร้าง (ไม่รวมเหล็ก และซีเมนต์)

S = ดัชนีราคาเหล็ก

C = ดัชนีราคาซีเมนต์

G = ดัชนีราคาเหล็กแผ่นเรียบ

F = ดัชนีราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว

A = ดัชนีราคาแอสฟัลต์

E = ดัชนีราคาเครื่องจักรกล และบริภัณฑ์

GIP = ดัชนีราคาท่อเหล็กอาบสังกะสี

AC = ดัชนีราคาท่อซีเมนต์ใยหิน

PVC = ดัชนีราคาท่อ PVC

PE = ดัชนีราคาท่อ HYDENSITY POLYETHYLENE

W = ดัชนีราคาสายไฟฟ้า

I = ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศ

ทั้งนี้ นอกจากผู้รับเหมาจะได้ประโยชน์จากการกำหนดจ่ายค่า K ซึ่งช่วยลดความเสี่ยง กรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากวัสดุก่อสร้างมีราคาสูงขึ้น ในส่วนของผู้จ้างเหมายังสามารถใช้ค่า K เป็นเครื่องมือป้องกันมิให้ผู้รับเหมาเอาเปรียบ โดยการบวกราคาวัสดุก่อสร้างเผื่อการเปลี่ยนแปลงไว้ล่วงหน้ามากจนเกินไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์