ลดดอกเบี้ย-แก้บาทแข็ง ก่อนที่ผู้ส่งออกจะหมดตัว
การนัดหารือร่วมกันระหว่าง “พิชัย ชุณหวชิร“ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังกับผู้ว่าแบงก์ชาติ ”เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” เกี่ยวกับกรอบภาวะเงินเฟ้อ ตั้งท่ามาตั้งแต่ รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” จนถึง “แพทองธาร ชินวัตร” ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น
ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติคาดการณ์ไว้ว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ตอนนี้อัตราเงินเฟ้อยังหลุดกรอบเป้าหมายที่วางไว้ 1-3 % ซึ่ง 8 เดือนที่ผ่านมาค่าเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.15 % เท่านั้น ซึ่งอัตรากรอบเงินเฟ้อเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยนโยบาย ทั้ง 2 หน่วยงานจึงจำเป็นต้องหารือกันเพื่อกำหนดกรอบที่เหมาะสม มีเวลาประมาณ 14 วันทำการก่อนที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะประชุม ภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคส่งออกต่างคาดหวังให้ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.50 % ต่อปี
เพราะขณะนี้ธนาคารกลางหลักๆทั่วโลกเริ่มทยอยลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว โดยธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปถึง 0.85% ปัจจุบันดอกเบี้ยลดลงมาอยู่ที่ 3.65% วันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดดอกเบี้ย 0.50 % มาสู่ 5.0% ในปัจจุบัน และธนาคารกลางอินโดนีเซีย ปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 6.00% ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 6.25% ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)ปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.25 % มาอยู่ที่ 5.00 % ส่วนธนาคารกลางจีน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.10% มาอยู่ที่ 3.35% ธนาคารกลางเกาหลี ที่ดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 3.50% และมาเลเซียที่ดอกเบี้ยล่าสุดอยู่ที่ 3.0%
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยยังคงชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มกำลังซื้อ และลดต้นทุนด้านการเงินของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้เป็นสิ่งสำคัญ หากสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็จะทำให้ต้นทุนทางด้านการเงินของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีลดลง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากการกู้เงินที่ดอกเบี้ยถูกลงกว่าเดิม และทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด กนง. จำเป็นจะต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม เพื่อให้ช่วยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้
วันนี้ผู้ประกอบการไทยไม่ได้เผชิญเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่สูง เข้าถึงแหล่งทุนยากเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมาเร็วที่สุดในรอบ 19 เดือน ซึ่งกระทบกับผู้ส่งออกแน่ๆ เมื่อเทียบกับคู่ค้าแล้วถือว่าค่าเงินเราแข็งค่ากว่าเงินหยวนของจีน เงินด่องของเวียดนาม เงินเยนของญี่ปุ่น รูเปียะห์ของอินโดฯ และริงกิตของมาเลเซีย รัฐบาลต้องเร่งหาปัจจัยอะไรที่ทำให้ค่าเงินเราแข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆ ถึงเวลาที่ฝ่ายกำหนดนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังต้องทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวหาจุดร่วมไปด้วยกันได้ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวดีขึ้น ที่สำคัญต้องทำอย่างรวดเร็ว อย่าช้า เพราะประชาชนที่เป็นเจ้าของคะแนนเสียงของรัฐบาลคือคนที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อน