'สุรพงษ์' นำทีมร่วมงานขนส่งนานาชาติ ดันความร่วมมือระบบรางไทย - เยอรมนี

'สุรพงษ์' นำทีมร่วมงานขนส่งนานาชาติ ดันความร่วมมือระบบรางไทย - เยอรมนี

“สุรพงษ์” นำทีมไทยร่วมงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีการขนส่งระดับนานาชาติปี 2567 พร้อมหารือความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและเยอรมนี

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะผู้แทนของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่  บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีการขนส่งระดับนานาชาติ InnoTrans 2024 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อศึกษาเทคโนโลยี ด้านระบบราง พร้อมผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรางของประเทศไทย

 นายสุรพงษ์ กล่าวว่า งาน InnoTrans 2024 ครั้งนี้มีบริษัทชั้นนำกว่า 2,700 แห่ง จากทั่วโลกร่วม แสดงนวัตกรรมด้านการผลิตตัวรถไฟ ระบบขับเคลื่อน ระบบจ่ายพลังงาน และระบบควบคุมเดินรถ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่าหมื่นคนต่อวัน งาน InnoTrans 2024 เป็นโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมระบบรางระดับโลก รวมถึงได้เห็นการแสดงนวัตกรรมจากบริษัทชั้นนำระดับโลก รวมถึงบริษัทของไทย

\'สุรพงษ์\' นำทีมร่วมงานขนส่งนานาชาติ ดันความร่วมมือระบบรางไทย - เยอรมนี

สำหรับการเข้าร่วมงาน InnoTrans เป็นงานแสดงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะเป็นโอกาสอันดีในการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมระบบราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการยกระดับการให้บริการแก่ประชาชน นำไปสู่การพัฒนาระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

นอกจากนี้ ภายหลังเยี่ยมชมงาน คณะผู้แทนของกระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Siemens ได้แก่ Mr. Michel Obadia, Mr. Karl Blaim และ Mr. Tomasz Mazur เพื่อหารือเกี่ยวกับการกระชับความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและเยอรมนี

 

\'สุรพงษ์\' นำทีมร่วมงานขนส่งนานาชาติ ดันความร่วมมือระบบรางไทย - เยอรมนี

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งครอบคลุม 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 553.41 กิโลเมตร ปัจจุบันไทยได้เปิดให้บริการแล้ว 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 โครงการ รวมระยะทาง 70.90 กิโลเมตร และโครงการที่อยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้างอีก 1 เส้นทาง

โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีของเยอรมนีมาใช้ในระบบรถไฟฟ้าหลายสาย เช่น สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน และแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ทั้งตัวรถและระบบอาณัติสัญญาณ นอกจากนี้ ยังได้นำระบบ APM ซึ่งเทคโนโลยีของเยอรมนีมาใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิอีกด้วย

ในส่วนของการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ประเทศไทยกำลังก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงหลายโครงการ ซึ่งจะช่วยยกระดับการขนส่งทางรางของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางอย่างต่อเนื่อง

นอกจากโครงการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังมีแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลักของประเทศ เช่น ขอนแก่น  เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา หาดใหญ่ และภูเก็ต ดังนั้น ความร่วมมือกับเยอรมนีได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบรางของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีและการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ให้แก่คนไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญมาก

นายสุรพงษ์ กล่าวปิดท้ายว่า การมาเยือนประเทศเยอรมนีในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนี ทั้งในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมลงทุน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการขนส่งทางรางให้แก่คนไทยต่อไป นอกจากการเข้าร่วมงาน InnoTrans 2024 แล้ว คณะผู้แทนของกระทรวงคมนาคมยังมีกำหนดการศึกษาดูงานด้านระบบรางในเมืองสำคัญของเยอรมนี ได้แก่ เบอร์ลิน โคโลญจน์ และมิวนิค ซึ่งจะทำให้ได้เห็นตัวอย่างของการพัฒนาและบริหารจัดการระบบรางที่มีประสิทธิภาพของเยอรมนีต่อไป