การทางพิเศษฯ จ่อ PPP สร้างทางด่วน 'ศรีนครินทร์ - สุวรรณภูมิ' 2 หมื่นล้าน
การทางพิเศษฯ เตรียมเปิด PPP ปีหน้า ลุยสร้างทางด่วนสายใหม่ ช่วงศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 20,710 ล้านบาท เคาะแนวเส้นทางบนเขตทางเดิมของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 หวังแก้ปัญหาการจราจรติดขัด คาดแล้วเสร็จเปิดบริการปี 2573
นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และแผน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยระบุว่า หลังได้รับความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน กทพ.จะรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการจัดทำโครงการ คาดว่าใช้เวลาราว 3 - 4 เดือนแล้วเสร็จ เพื่อเสนอขออนุมัติการลงทุนตามขั้นตอน
สำหรับโครงการทางพิเศษสายนี้ จะใช้งบประมาณการลงทุนราว 20,710 ล้านบาท ประกอบด้วย ราคาก่อสร้าง ค่าออกแบบ ค่าควบคุมงาน และค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างก่อสร้าง โดยเมื่อพิจารณาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจของโครงการ พบว่า มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 6,169.75 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 14.35 อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อทุน (B/C) เท่ากับ 1.52 ดังนั้นโครงการมีความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ที่สูงมากกว่าร้อยละ 12
สำหรับแนวเส้นทางในโครงการทางพิเศษ สายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีจุดเริ่มต้นบริเวณเกาะกลางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางบริการ ทั้ง 2 ฝั่ง (ทิศเหนือ-ทิศใต้) เมื่อผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ทางยกระดับด้านทิศเหนือจะเบี่ยงลงมารวมกับทางยกระดับด้านทิศใต้เป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เป็นระยะทางประมาณ 8.95 กิโลเมตร
ก่อนจะแยกโครงสร้างเป็น 2 ฝั่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณจุดตัดถนนร่มเกล้า และเข้าเชื่อมทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากนั้นเส้นทางหลักลดระดับลงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ทั้งนี้ โครงการจะมีการกำหนดจุดเข้า-ออกทางพิเศษโครงการทั้งหมด 3 จุด ประกอบด้วย
1.จุดเริ่มต้นโครงการ (ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์) โดยมีทางขึ้น-ลง 4 ทิศทาง
2.ทางเชื่อมเข้า – ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงสร้างจะแยกออกจากเส้นทางหลัก โดยมีทางเลี้ยวรูปแบบ Semi Directional Ramp ในทิศทางเลี้ยวขวาเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนทิศทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเลี้ยวซ้ายเข้าสู่โครงการไปทางพระราม 9 เป็นทางเลี้ยวรูปแบบ Directional Ramp
3. จุดสิ้นสุดโครงการ (ตำแหน่งทางขึ้น - ลงลาดกระบัง) เมื่อผ่านจุดเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แนวเส้นทางจะข้ามทางเข้า - ออก ICD ลาดกระบัง ก่อนจะกดระดับลงพื้น และผ่านด้านข้างของสะพานกลับรถเดิมก่อนจะเข้าเชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7
สำหรับรูปแบบของระบบจัดเก็บค่าผ่านทางที่เหมาะสมเป็นแบบระบบเปิด โดยจัดเก็บค่าผ่านทางแบบใช้พนักงาน (Manual Toll Collector System : MTC) และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Toll Collection System : ETC) ร่วมกัน โดยมีด่านเก็บค่าผ่านทางอยู่บนโครงสร้างทางยกระดับบริเวณทางแยกต่างระดับร่มเกล้า ประกอบด้วยฝั่งขาเข้า (มุ่งหน้าไปพระราม 9) จำนวน 8 ช่องจราจร และฝั่งขาออก (มุ่งหน้าไปลาดกระบัง) จำนวน 7 ช่องจราจร
รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่า โครงการทางพิเศษสายนี้จะศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จภายในปี 2567 หลังจากกนั้นจะเริ่มขั้นตอนจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่ไปกับการเสนอรูปแบบการลงทุนในลักษณะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (PPP) ตาม พรบ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562
ซึ่งคาดว่าขั้นตอนเสนอรูปแบบการลงทุนจะแล้วเสร็จในปี 2568 ก่อนเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนช่วงระหว่างปี 2568 – 2570 ขณะเดียวกันจะเร่งดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยมีกรอบดำเนินงานระหว่างปี 2569 – 2570 และคาดว่าจะเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างโครงการในปี 2570 แล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2573