‘รศ.ดร.เจษฎา’ เตือนอย่าเร่งสรุปบริษัทนำเข้า ‘ปลาหมอคางดำ’ ต้นตอแพร่ระบาด
รศ.ดร.เจษฎา เตือนอย่าเพิ่งรีบสรุปบริษัทนำเข้าปลาหมอคางดำ เป็นต้นตอแพร่ระบาดทั่วประเทศ แนะต้องตรวจ DNA เทียบเคียงสายพันธุ์จากกานา กับสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบัน ชี้จุดอ่อนข้อมูล 11 บริษัทส่งออกปลา อาจกรอกข้อมูลผิดพลาด ทั้งชื่อไทย ชื่ออังกฤษ ชื่อวิทยาศาสตร์
คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้แถลงผลการศึกษาปลาหมอคางดำเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2567 ถึงการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำและมีเอกชนเพียงรายเดียวที่นำเข้ามาในไทย
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวกับเนชั่นทีวี มีส่วนจริงที่รบุถึงบริษัทรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อนำมาวิจัย แต่ปลาตายหมดแล้วและวิจัยต่อไม่ได้ จึงทำให้หลายคนมองว่าบริษัทดังกล่าวคือจุดกำเนิดการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ
ขณะนี้หากจะให้สรุปผลแบบรวบรัดยังตัดประเด็นการลักลอบนำเข้าไม่ได้ เพราะในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาสวยงามหรือปลาแปลกรับทราบว่ามีการลักลอบนำเข้าปลาหลายประเภท โดยแม้มีการตรวจสอบแต่ในช่วงดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายห้ามนำเข้ากลุ่มกลุ่มดังกล่าว
สำหรับผลการวิจัยสารพันธุกรรม (DNA) ควรได้ DNA ปลาหมอคางดำในช่วงที่บริษัทนำเข้าเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมา เพื่อนำมาสกัดเปรียบเทียบกับ DNA ปลาหมอคางดำที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบัน โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่าบริษัทนำเข้าปลาหมอคางดำจากประเทศกานา
ทั้งนี้ได้เสนออธิบดีกรมประมงว่าให้ขอ DNA ปลาหมอคางดำจากประเทศในแอฟริกา เช่น กานา โกตดิวัวร์ เพื่อเทียบกับปลาหมอคางดำในไทย ซึ่งจะทำให้กรอบการหาข้อเท็จจริงแคบลง
รวมทั้ง ปลาหมอคางดำในกานาและโกตดิวัวร์ มีพันธุกรรมคล้ายกัน แต่ถ้าจะระบุเป็นการนำเข้าจากกานาประเทศเดียวไม่ได้ จึงทำให้ปัจจุบันยังสรุปข้อเท็จจริงไม่ได้
และกรณีการพิจารณาตามหลักวิทยาศาสตร์จะต้องระบุในภาพกว้างว่ามาจากกลุ่มพันธุกรรมกานา-โกตดิวัวร์ หรือยังไม่ควรรีบสรุปและชี้ชัดเป็นบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้ามา โดยต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มอย่างละเอียด
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้แถลงว่าไม่มีหลักฐานให้เชื่อว่า 11 บริษัทได้ส่งออกปลาจริง แล้วเป็นช่วงที่พบการระบาดในไทย โดยประเด็นนี้ รศ.ดร.เจษฎา กล่าวว่า การส่งออกปลาหมอคางดำมีข้อมูลระบุอย่างละเอียดถึงปริมาณการส่งออกต่อครั้ง
"รวมถึงระบุบริษัทที่ส่งออก ระบุชื่อปลาเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และชื่อทางวิทยาศาสตร์ เช่น ชื่อไทยระบุปลาหมอสีข้างลายที่เป็นอีกสปีชีส์ แต่ชื่อวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษจะระบุชัดเจน"
สำหรับการสอบสวนช่วงดังกล่าวทุกบริษัทระบุไม่ด้ส่งออกปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นการกรอกข้อมูลผิด รวมถึงผู้ทำหน้าที่แทนเจ้าของสินค้า (Shipping) ระบุข้อมูลผิดบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องคาใจเพราะบางบริษัทส่งออกมากกว่า 100 ครั้ง
ดังนั้นจึงเป็นอีกประเด็นที่ตัดทิ้งไม่ได้ เพราะถ้าส่งออกมากดังกล่าวต้องตั้งคำถามว่าเพาะเลี้ยงที่ไหนและมีส่วนทำให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่ควรสรุปสาเหตุการแพร่ระบาดและควรไล่หาความจริงต่อ