ITD เปิดตัว “ศูนย์ประชาคมข่าวกรองทางการค้า” นำร่องศึกษา 3 อุตสาหกรรม
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) เปิดตัว “ศูนย์ประชาคมข่าวกรองทางการค้า” นำร่องศึกษา วิเคราะห์ ทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 อุตสาหกรรม อาหาร พลังงาน เทคโนโลยี เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับ MSME ของไทย
นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เปิดเผยว่า ITD ได้ดำเนินการตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้พิจารณาหาแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลาง เล็ก และย่อม (MSME) ให้สามารถแข่งขันและสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์ประชาคมข่าวกรองทางการค้า หรือ Trade Intelligence Center -TIC” เพื่อคาดการณ์ วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับ MSME ของไทย
โดยการดำเนินการของ TIC ซึ่งปีนี้เป็นปีแรก ได้นำร่องทำการศึกษา 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร พลังงาน และเทคโนโลยี เพราะมี MSME เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยมีการศึกษาเชิงลึกร่วมกับเครือข่ายทางวิชาการ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกหรือข้อมูลข่าวกรองทางการค้าและการตลาด เช่น ข้อมูลการตลาด ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) และมาดำเนินการคาดการณ์และวิเคราะห์มาตรการด้านการค้าและการลงทุนในอนาคต และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่จะเป็นข้อแนะนำให้กับ MSME นำไปใช้ในการปรับตัวและหาโอกาสทางการค้า การลงทุนต่อไป
นายวิมล ปั้นคง รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) ITD กล่าวว่า ผลการศึกษา พบว่า อุตสาหกรรมอาหาร มีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะ 10-20 ปีข้างหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งเป็นต้นน้ำ มีแนวโน้มผลผลิตลดลง เพราะประชากรไทยเข้าสู่ภาคการเกษตรลดลง จากอัตราการเกิดต่ำ มีข้อเสนอถึงภาครัฐ จะต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรที่จะให้มีผลผลิตป้อนอุตสาหกรรม แต่ในด้านโอกาส มีโอกาสมากทั้งอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเฉพาะกลุ่ม อาหารที่มีนวัตกรรม ซึ่งต้องส่งเสริมให้ MSME เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าป้อนความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น
ส่วนพลังงาน มีแนวโน้มเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ คือ การมุ่งพลังงานสีเขียว โดยนโยบายภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนการสร้างพลังงานสีเขียว ไม่ใช่พลังงานจากฟอสซิลแบบเดิม โดยต้องเพิ่มพลังงานทางเลือกทั้งจากแดด ลม ชีวภาพ และต้องเปิดโอกาสให้ MSME มีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานสีเขียว และต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการในทุกภาคส่วน หันมาใช้พลังงานสีเขียว เพราะโลกให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับสีเขียว หากผลิตสินค้าและบริการตอบโจทย์โลกได้ ก็จะเพิ่มโอกาสทางการค้า และการลงทุนต่าง ๆ ในอนาคต ก็ต้องการพลังงานสีเขียว ขณะเดียวกัน ภาคการขนส่ง ก็ต้องใช้พลังงานสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ขณะนี้โลกกำลังให้ความสำคัญ เช่น การใช้ไฮโดรเจน พลังงานไฟฟ้า ซึ่ง MSME จะต้องรู้ทันและปรับตัวใช้
สำหรับเทคโนโลยี ผลการศึกษาพบว่า เกี่ยวข้องกับทุกอุตสาหกรรม ภาครัฐจะต้องสนับสนุน MSME ให้เข้าถึงเทคโลโลยี ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยยกระดับการผลิต การทำการค้า เพิ่มโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และต้องสนับสนุนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ITD จะนำผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้งหมดนี้ เสนอให้กับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ร.ท.ดร.พันธ์รบ ราชพงศา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าและการพัฒนา ITD กล่าวว่า การศึกษาในปีนี้ ITD นำร่องใน 3 อุตสาหกรรม เพราะเห็นว่ามีความเกี่ยวเนื่องกัน และสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับ MSME ที่เกี่ยวข้องได้ ส่วนปี 2568 จะเพิ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เข้ามาอีก 1 อุตสาหกรรม เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกัน แต่จะขยายผลการศึกษาไปยังอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ดูตั้งแต่ไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ โดยจะศึกษาว่าการดำเนินการของจีนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของไทยอย่างไร และจะปรับตัวอย่างไร หรือจะใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไร เพื่อสร้างโอกาสให้กับ MSME ของไทย และปี 2569 จะขยายผลเป็นอาเซียน 10 ประเทศ จะดูว่าจะร่วมมือกันอย่างไร สร้างความเข้มแข็งร่วมกันอย่างไร