เปิดเบื้องหลัง”พิชัย”จัดทัพผู้บริหาร”พาณิชย์”โยกหลายตำแหน่ง

เปิดเบื้องหลัง”พิชัย”จัดทัพผู้บริหาร”พาณิชย์”โยกหลายตำแหน่ง

"พาณิชย์" จัดทัพ ผู้บริหารระดับสูง ตั้ง อธิบดีป้ายแดง 3  คน โยกย้ายใหม่ 8 คน ดัน “วิทยากร” คุมกรมการค้าภายใน “สุนันทา”นั่งอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ “อารดา”ขึ้นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ขณะที่ “วัฒนศักดิ์”เข้ากรุเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ สับเปลี่ยนหมุนเวียน และทดแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 7 ราย

1.นายวิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน

2.น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

3.น.ส.นุสรา กาญจนกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

4.นางอารดา เฟื่องทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

5.ร.ต.จักรา ยอดมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองปลัดกระทรวงพาณิชย์

6.นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์

7.นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์

ทั้งนี้การโยกย้ายแต่งตั้งใหม่ครั้งนี้ มีอธิบดีป้ายแดง  4 ตำแหน่ง  ประกอบด้วย นายวิทยากร มณีเนตร , น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ ,น.ส.นุสรา กาญจนกูล และนางอารดา เฟื่องทอง ขณะที่อีก  3 ตำแหน่งถูกสับเปลี่ยนโยกย้าย ประกอบด้วย ร.ต.จักรา ยอดมณี, นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม, และนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์

ไฮไลต์อยู่ที่ตำแหน่ง “อธิบดีกรมการค้าภายใน” ที่คนเก่าคือ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม ที่นั่งอยู่ในตำแหน่งนี้มาแล้ว  4 ปี ซึ่งตามหลักเกณฑ์จะต้องโยกย้ายไปนั่งเก้าอี้อื่น ยกเว้นว่า จะมีการต่ออายุให้อีก 1 ปี แต่ก็ไม่ได้มีการต่ออายุ กลับถูกโยกไปนั่งตบยุงเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งไม่มีทั้งงบประมาณและบุคคลการ แตกต่างกับกรมการค้าภายในที่ถือเป็นกรมใหญ่มีความสำคัญมากกรมหนึ่งในกระทรวงพาณิชย์

"นายวัฒนศักย์ "เติบโตมาในสายงานที่ดูแลเกษตรกร ค่าครองชีพ ที่กรมการค้าภายใน เป็นผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า เป็นผู้อำนวยการระดับสูง   จากนั้นได้รับการผลักดันจาก “วิชัย โภชนกิจ” ที่เป็นรองอธิบดีกรมการค้าภายในในขณะนั้น  และขยับขึ้นเป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งถือเป็น”ลูกหม้อ”ของกรมการค้าภายใน เดิมคาดว่า นายวัฒนศักย์ ก็มีโอกาสที่จะถูกโยกไปเป็น “ผู้อำนวยการ สนค.” แต่สุดท้ายจบลงที่ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์  

คนที่รับไม้ต่อเป็นอธิบดีกรมการค้าภายในคนใหม่ คือ “นายวิทยากร มณีเนตร” ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง”นายภูมิธรรม เวชชัย ” รมว.พาณิชย์ ในสมัยนั้นได้แต่งตั้งให้เป็น “โฆษกกระทรวงพาณิชย์” อีกตำแหน่ง ซึ่งในช่วงเวลาที่“โฆษกกระทรวงพาณิชย์”ทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ถือว่าทำงานเป็นที่เข้าตาของ “ฝ่ายการเมือง”จนได้รับความไว้วางใจดันขึ้นเป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน

ขณะที่อธิบดีป้ายแดงอีกคน คือ น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ  ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์  เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมายของหลายคนในกระทรวง โดยน.ส.สุนันทา เติบโตมาในสายงานด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นรองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก่อนได้รับการแต่งตั้งไปเป็นเอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และถูกโยกกลับมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ โดยน.ส.สุนันทา มีเชี่ยวชาญด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และความใกล้ชิดสนิทสนมกับฝ่ายการเมืองที่เป็นรัฐบาลจึงถูกวางตัวเป็น อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
         
ส่วนนางอารดา เฟื่องทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ขึ้นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แทนรณรงค์ พูลพิพัฒน์"ที่ถูกโยกเข้ากรุอีก 1  คน  ซึ่งการที่"อารดา"เป็นอธิบดี ถือเป็นตำแหน่ง”เซอร์ไพรส์” มากในการโยกย้ายครั้งนี้  โดยนางอารดา  เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์การทำงานด้านการส่งเสริมการค้า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก การช่วยพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศ เป็นรองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จากนั้นขยับขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยนายภูมิธรรม เวชยชัย   ซึ่งถือว่าขยับสู่ตำแหน่งอธิบดีเร็วมาก  เนื่องจาก นางอารดา เพิ่งได้รับตำแหน่งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ได้เพียง 1 ปี ซึ่งนางอารดาเป็นอีกคนที่ทำงานเข้าตาฝ่ายการเมือง

การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ ถือว่าได้ ผู้บริหารใหม่ ครบทั้งหมดแล้ว” ใครสมหวัง ใครผิดหวัง ถูกใจ ไม่ถูกใจ”
ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของกระทรวง ที่”อำนาจ”การเสนอชื่อแต่งตั้งอยู่กับเจ้ากระทรวงนั้นๆและเมื่อครม.ไฟเขียวออกมาแล้วก็ถือว่า “จบ”ต้องเดินหน้าทำงานกันเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าต่อไป