พาณิชย์ เข้ม สอบนอมินี ปี 67 พบ  4  รายอาจเข้าข่ายนอมินี

พาณิชย์ เข้ม สอบนอมินี ปี 67 พบ  4  รายอาจเข้าข่ายนอมินี

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  เข้ม สอบนอมินี ปี 67 กว่า  2.6  หมื่นราย พบ 64 ราย ผิดกฎหมายทางบัญชี  อีก 63 รายสอบเพิ่ม พบ  4 รายเสี่ยงเข้าข่ายนอมินี ส่งต่อหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการตามกฏหมาย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ว่า จากการตรวจสอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงเป็นนอมินีในปีงบประมาณ 67 รวมทั้งสิ้น 26,019 ราย ใน 4 ธุรกิจ คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง, ธุรกิจค้าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่ง ซึ่งอยู่ใน 6 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ และได้คัดกรองตรวจสอบอย่างเข้มข้นเหลือ 498 รายนั้น 

ล่าสุด ใน 498 รายนี้ ได้ยุติเรื่องไปแล้ว 371 ราย เพราะไม่พบความเสี่ยง ส่วนอีก 64 รายได้แจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดเกี่ยวกับบัญชี ซึ่งได้ส่งเรื่องต่อให้กรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบในส่วนที่เกี่ยวข้อง และอีก 63 รายที่เหลือนี้พบว่า มี 4  รายที่ต้องสงสัยว่าอาจเข้าขายเป็นนอมินี อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมุูลและจะส่งต่อให้หน่วยงานบังคับใช้กฏหมายขยายผลตรวจสอบต่อไป

นอกจากนี้ กรมยังได้เพิ่มการตรวจสอบในธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติมอีก หลังจากทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ ได้ร้องเรียนกรณีมีสินค้าจากต่างประเทศราคาถูก ไร้มาตรฐานเข้ามาในไทย และยังมีธุรกิจของต่างชาติที่เข้าข่ายไม่ดำเนินการตามกฎหมายไทยอีก ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มออนไลน์, ธุรกิจโกดังสินค้า, ธุรกิจโลจิส ติกส์และการขนส่ง, ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าเหล็ก, ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับกรุงเทมหานคร (กทม.) แล้ว เช่น ห้วยขวาง สำเพ็ง และพบว่า บางรายมีข้อสงสัยว่าอาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือเป็นนอมินี ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเชิงลึก สำหรับกรณีนอมินี จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นางอรมน กล่าวต่อถึงกรณีที่มีข่าวว่า คนต่างด้าวเข้ามาเปิดร้านโชห่วย หรือขายของที่นำเข้าจากต่างประเทศ และให้ลูกค้าสแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายเงินตรงไปยังบัญชีธนาคารที่เปิดในต่างประเทศนั้น ผู้ที่จะเปิดร้านโชห่วย หรือร้านค้าปลีก จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ไม่ว่าจะมีพื้นที่ร้านค้าขนาดเท่าไร หรือแม้กระทั่งเป็นแผงค้าเล็กๆ เพื่อให้ทำธุรกิจในไทย และเสียภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับกทม. เจ้าหน้าที่กรม ได้แนะนำให้กทม.บังคับให้คนเหล่านี้ต้องจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว หากไม่ดำเนินการ ก็จะมีความผิด

สำหรับกรณีแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทำงานในไทยแล้วเปิดแผงขายสินค้าในตลาด เช่น อาหารสด อาหารตามสั่งนั้น ถือเป็นความผิดซึ่งหน้าตามกฎหมายของกรมการจัดหางาน หรือกฎหมายของกทม. ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ สามารถดำเนินการได้ทันที แต่เท่าที่ทราบ หน่วยงานดังกล่าวก็ได้ดำเนินการเป็นประจำอยู่แล้ว