ครม. ไฟเขียวปรับเงื่อนไขซอฟต์โลน ออมสิน 5 หมื่นล้าน ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ครม. ไฟเขียวปรับเงื่อนไขซอฟต์โลน ออมสิน 5 หมื่นล้าน ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

'ครม.' ไฟเขียวปรับเงื่อนไขซอฟต์โลน ออมสิน 5 หมื่นล้าน หนุนเอสเอ็มอี รายย่อย ผู้มีอาชีพอิสระ ประสบภัยน้ำท่วม เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (1 ต.ค.) อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำซอฟต์โลน ของธนาคารออมสิน โครงการ GSB Boost Up วงเงิน 50,000 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 100,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SME กลุ่มรายย่อยและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและนำไปฟื้นฟูกิจการและการประกอบอาขีพ

"การปรับเงื่อนไขซอฟต์โลน เพื่อกันวงเงินให้สำหรับประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้นำไปฟื้นฟูกิจการและฟื้นฟูอาชีพ ทั้งนี้จะต้องยื่นขอสินเชื่อภายในปีนี้ โดยวงเงินที่เหลือจะกลับไปรวมกับยอดสินเชื่อของโครงการหลัก" 
 

โดยธนาคารออมสินปล่อยซอฟต์โลนให้สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อไปปล่อยสินเชื่อต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ต่อ โดยมีเงื่อนไขดอกเบี้ย 2 ปีแรกไม่เกิน 3.5% วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน และภายใต้วงเงินดังกล่าวธนาคารออมสินสามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยโดยตรงภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกัน ทั้งนี้ สามารถยื่นขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 ธ.ค.2567 

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการปรับเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมปี 2567 ภายใต้โครงการ PGS 11 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อย (บสย.) โดยมีการผ่อนปรนให้ง่ายขึ้น ลดค่าธรรมเนียม ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก หลังจากนั้นคิด 1.25% ต่อปี อีกทั้งเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันจาก 30% เป็น 40% ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี รับคำขอค้ำประกันถึงวันที่ 30 เม.ย.2568

กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้สามารถฟื้นฟูกิจการเพื่อกลับมาประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ภายหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายลง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที เพื่อไม่เกิดผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างต่อไป