นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนขยายตัว 7% เป็นการตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเดือนก.ค.ที่ส่งออกขยายตัวสูงถึง 15 % ทำให้ภาพรวมการส่งออก 8 เดือน ส่งออกขยายตัวได้ 4.2 % ซึ่งโค้งสุดท้าย 4 เดือนที่เหลือ หากการส่งออกเฉลี่ยได้เดือนละ 22,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ และต้องไม่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมก็ทำให้การส่งออกของไทยทั้งปี โต 1 % แต่หากเพิ่มความพยามเข้าไปอีกและส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 23,400 ล้านดอลลาร์ ก็มีความเป็นไปได้ในระดับปานกลาง ที่การส่งออกทั้งปีจะโตได้ 2 % มูลค่า 2.9 หมื่นล้านเหดอลลาร์ หรือราว 10 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนได้ตั้งเป้าไว้ ที่ 1-2%
ทั้งนี้การส่งออกในช่วงแรกของปีได้รับอานิสงค์จากค่าเงินบาทอ่อนค่าทำให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ดีซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 5.6 %
แต่สถานการณ์เงินบาทในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปแล้ว 12% ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างรุนแรง ซึ่งกลุ่มสินค้าเกษตรและกลุ่มสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม หลีกไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อทั้งในเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน และกำไรของผู้ประกอบการที่ลดน้อยลงจนอาจถึงขั้นขาดทุน
ทั้งนี้ หากเทียบอัตราการแข็งค่าเงินของไทยกับประเทศในภูมิภาคตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีเพียงมาเลเซียเท่านั้นที่เงินแข็งค่ามากกว่าไทย โดยแข็งค่า 12.43% ขณะที่เงินบาทแข็งค่า 5.96% ส่วนจีน เวียดนาม อินโดนิเซีย สิงคโปร์ เงินแข็งค่าเพียง 1.3% 1.44% 2.76% และ 3% ซึ่งเงินบาทของไทยแข็งค่าเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียเป็นรองแค่มาเลเซียเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการต้องรับมือคือการทำประกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน การเจรจากับคู่ค้าเรื่องการใช้สกุลเงินท้องถิ่น และบางครั้งผู้ส่งออกอาจไม่รับคำสั่งซื้อสินค้าชั่วคราวเพื่อประกันความเสี่ยง
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 4.0 % แม้ยังไม่เห็นผลกระทบจากค่าเงินบาทมากนัก แต่หากพิจารณาถึงดัชนีภาคการผลิตหรือPMI ในเดือนก.ย.67 หลายประเทศยังหดตัวต่ำกว่าระดับ 50 อย่างต่อเนื่อง จากกิจกรรมโรงงานหดตัวในลายประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐ หดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง ยุโรปยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ทำให้การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้ายังไม่เต็มที่
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนนั้นจะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังการจับจ่ายใช้สอยในระยะกลางและระยะยาว แต่อาจไม่เห็นผลเร็วนัก คาดว่าต้องรอถึงไตรมาสแรกของปี 68 และจะส่งผลดีทางอ้อมต่อการแก้ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาให้คลี่คลายลงด้วย
“การส่งออกในช่วงโค้งสุดท้าย 4 เดือนที่เหลือ ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ไม่มีปัจจัยหนุนเหลืออีกแล้ว มีแต่ปัจจัยที่ระเบิดแล้วคือ บาทแข็ง และปัจจัยที่รอเวลาระเบิด จากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลที่เริ่มขยายวงกว้างและรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องผู้ส่งออกต้องแบกรับปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกัน “นายชัยชาญ กล่าว
ทั้งนี้สรท.ข้อเสนอแนะที่สำคัญ 1. รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องมือและค่าธรรมเนียมในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
2. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
3. พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่ให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มากเกินไป
4. เร่งรัดการเจรจาการค้าและความร่วมมือทางการค้าใหม่ ๆ ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศคู่ค้านั้นๆ
นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วและแรง หากไม่ทำอะไรในการแก้ไขก็อาจทำให้ไทยมีโอกาสขาดดุลการค้ามากขึ้น เพราะดึงดูดให้มีการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะจากจีนที่มีราคาถูก
ขณะที่อุตสาหกรรมการนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกของไทยก็ได้รับผลกระทบจากบาทแข็ง เพราะได้รับประโยชน์จากต้นทุนนำเข้าที่ลดลงน้อยกว่าผลเสียที่เกิดจากการส่งออกสินค้าไปขายแล้วได้รับค่าชำระสินค้ารูปเงินบาทน้อยลง ซึ่งมีความเสี่ยงที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้อาจตัดสินใจย้ายการผลิตจากไทยไปยังภูมิภาคใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ที่มีค่าเงินแข็งน้อยกว่าไทย รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงเรื่องการเตรียมปรับขึ้นอาจเร่งให้นักลงทุนย้ายฐานลงทุนออกจากไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า ในส่วนของปัญหาค่าระวางเรือนั้นคลี่คลายไปมาก โดยส่วนใหญ่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงในบางเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป เนื่องจากสายเดินเรือยังคงเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป นอกจากนี้ยังคงต้องจับตาสถานการณ์แรงงานในท่าเรือของสหรัฐอเมริกาที่ประท้วงหยุดงาน ที่ส่งผลกระทบให้การส่งมอบสินค้าล่าช้า และทำให้มีการปรับค่าระวางเรือและSurcharges สูงขึ้นทั้ง 2 ฝั่งท่าเรือของสหรัฐ ประมาณ 20-30 % ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น