โลกจับตาตะวันออกกลาง ‘ระอุ’ ตลาดน้ำมันพลิกหลังราคาซึมยาว
วิกฤติภูมิรัฐศาสตร์ตะวันออกกลางระอุ การโจมตีขยายวง อิหร่านได้เปิดฉากยิงขีปนาวุธเข้าโจมตีอิสราเอล แม้อิหร่านยุติโจมตี ด้านตลาดน้ำมันมีโอกาสพลิกฟื้น สศช.ห่วงเงินเฟ้อฉุดโอกาสลดดอกเบี้ย ส.อ.ท.หวั่นค่าระวางเรือปรับสูงขึ้น สรท.หวั่นฉุดตลาดยุทธศาสตร์ส่งออกไทย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเมื่อคืนวันที่ 1 ต.ค.2567 อิหร่านได้เปิดฉากยิงขีปนาวุธเข้าโจมตีอิสราเอลแล้ว ซึ่งทางกองทัพอิสราเอลประเมินว่ามีประมาณกว่า 180 ลูก แต่ส่วนใหญ่ถูกสกัดเอาไว้ได้ทั้งหมด
กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) ออกแถลงการณ์ระบุว่า อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธจำนวนมากเข้าโจมตีอิสราเอลเพื่อตอบโต้ต่อการสังหารประชาชนในฉนวนกาซา รวมทั้งผู้นำของกลุ่มฮามาส และฮิซบอลเลาะห์ ที่อิสราเอลออกปฏิบัติการไล่ปลิดชีพไปก่อนหน้านี้ และเตือนว่าอิสราเอลจะถูกโจมตีแบบบดขยี้ หากทำการตอบโต้อิหร่าน
ภายหลังเหตุการณ์ยิงขีปนาวุธเกือบ 200 ลูกเข้าโจมตีอิสราเอล อิหร่านได้ประกาศตามมาว่าการโจมตีอิสราเอลสิ้นสุดแล้ว โดยไม่มีเหตุการณ์ยั่วยุใดๆ เพิ่มเติมอีก
ด้านราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งกว่า 5% ทะลุระดับ 71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลระหว่างการซื้อขาย หลังมีรายงานว่าอิหร่านได้ยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล ก่อนจะปิดตลาดวันที่ 1 ต.ค.67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.66 ดอลลาร์ หรือ 2.44% ปิดที่ 69.83 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การที่อิหร่านเปิดฉากยิงขีปนาวุธจำนวนมากเข้าถล่มอิสราเอลเมื่อคืนวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา จะเป็นบททดสอบต่อ “ราคาน้ำมันโลก” ที่อยู่ภาวะขาลงปีนี้ หลังจากการโจมตีดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าอาจจะนำไปสู่การหยุดชะงักของอุปทานน้ำมันในตะวันออกกลาง หากสถานการณ์ทวีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นต่อไป
นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ของอิสราเอล ประกาศจะตอบโต้การโจมตีดังกล่าว และมีความเสี่ยงนำไปสู่ “การเผชิญหน้า” ระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายตามมา ส่งผลให้คืนก่อนหน้าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ ทะยานขึ้น 5% ระหว่างการซื้อขาย แม้ราคาปิดตลาดลดลงแต่ระหว่างการซื้อขายวันที่ 2 ต.ค.67 ราคาน้ำมันดิบทั้ง 2 ประเภทปรับตัวขึ้น 3% ไปอยู่ที่ 72 ดอลลาร์/บาร์เรล และ 75 ดอลลาร์/บาร์เรล ตามลำดับ
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ และนักค้ายังไม่เชื่อหรือตั้งความหวังล่วงหน้าแบบเต็มร้อยว่า จะเกิดเหตุการลุกลามไปถึงขั้นโจมตีคลังน้ำมันของอิหร่าน หรืออิหร่านจะบล็อกช่องแคบฮอร์มุซ และจะส่งให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้น
บ็อบ แม็คนัลลี ประธานบริษัท แรปิดัน เอ็นเนอร์จี กรุ๊ป และอดีตที่ปรึกษารัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวว่า ตลาดน้ำมันในตอนนี้เต็มไปด้วยการขายชอร์ต และค่อนข้างอิ่มตัวกับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์
“ค่าพรีเมียมจะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อตลาดเผชิญกับภาวะวิกฤติที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างพื้นฐานหรือการขนส่งทางพลังงาน หรือหากอิสราเอลโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่คุกคามระบอบของอิหร่าน” แม็คนัลลี กล่าว
ด้านบริษัทเคลียร์วิว เอ็นเนอร์จี พาร์ทเนอร์ส ประเมินว่า ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นถึง 7 ดอลลาร์/บาร์เรล หากสหรัฐ และพันธมิตรคว่ำบาตรอิหร่าน หรืออาจพุ่งขึ้นไปถึง 13 ดอลลาร์/บาร์เรล หากอิสราเอลโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของอิหร่าน แต่ในกรณีเลวร้ายหากการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซหยุดชะงักงัน อาจส่งผลกระทบมากที่สุดโดยราคาน้ำมันดิบจะพุ่งขึ้นถึง 13-28 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ อิหร่านนับเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) โดยมีกำลังการผลิตมากกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
สศช.ห่วงเงินเฟ้อฉุดโอกาสลดดอกเบี้ย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ทวีความตึงเครียดมากขึ้นว่า ขณะนี้ต้องจับตาท่าทีของอิสราเอลว่าจะมีการตอบโต้การโจมตีของอิหร่านกลับมาหรือไม่ และหากมีการตอบโต้จากอิสราเอลรูปแบบการตอบโต้เป็นอย่างไร
นอกจากนี้บริเวณที่จะมีการโจมตีจะเป็นพื้นที่ใด หากในกรณีสถานการณ์เลวร้ายที่สุด (worst case) การโจมตีกลับของอิสราเอลไปกระทบกับพื้นที่การผลิตน้ำมันในอิหร่านก็อาจทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้
นอกจากนั้น หากเกิดสถานการณ์สงครามเต็มรูปแบบระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านก็อาจทำให้อิหร่านมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญในตะวันออกกลาง ซึ่งก็จะกระทบกับการขนส่ง และการผลิตน้ำมันทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน
“สถานการณ์ตะวันออกกลางต้องจับตาต่อเนื่อง เพราะเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งยาวนาน มีการตอบโต้ไปมา ซึ่งช่วงที่อิหร่านยิงขีปนาวุธเข้าไปอิสราเอลตอนนั้นราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% เพราะนักลงทุนกังวลสถานการณ์มากขึ้น แต่ตอนนี้ยังบอกได้ยากว่าสถานการณ์จะบานปลายไปหรือจำกัดวงไม่กลายเป็นสงครามระดับภูมิภาค” นายดนุชา กล่าว
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อิหร่านโจมตีอิสราเอล เป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างกังวลสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งจากนี้ไปต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะล่าสุดอิหร่านเริ่มโจมตีอิสราเอลส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นลงเร็ว
ทั้งนี้สถานการณ์ปัจจุบันจะยังไม่น่าเป็นห่วงจนเกินไป แม้สงครามจะขยายตัวแต่ไม่น่าจะรุนแรงมากกว่านี้โดยสิ่งที่เป็นห่วง คือ คนไทยที่เป็นตัวประกัน 6 คนส่วนการที่คนไทยยังมีความต้องการไปทำงานที่อิสราเอลก็ขอรัฐบาลมีมาตรการดูแลที่เหมาะสม
ส.อ.ท.หวั่นค่าระวางเรือปรับสูงขึ้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หวังว่าสถานการณ์จะยุติโดยเร็วอย่าขยายวงกว้างไปกว่านี้ เพราะขณะนี้ก็เห็นผลกระทบได้ชัดเจน 2 เรื่อง คือ
1.ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากว่าสถานการณ์บานปลายขยายผลรุนแรงมากขึ้นก็มีความเป็นไปได้สูงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับขึ้นสูงอีกเหมือนเช่นเดียวกับช่วงที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ราคาน้ำมันพุ่งทะยานกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อยู่ช่วงที่รับได้ แต่หากแตะถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะมีปัญหา
2.โลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือที่ผ่านมากระทบค่าระวางเรือช่วงที่กลุ่มกบฏฮูตีโจมตีเรือขนส่งทางทะเลที่เดินเรือผ่านทะเลแดง ทำให้สายเดินเรือต้องเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปแทนต้องเสียเวลาเดินเรืออีก 2 สัปดาห์ ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับสูงขึ้น โดยเดิมราคาอยู่ที่ 3,000-4,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 40 ฟุต เมื่อเกิดเหตุการณ์ทำให้ค่าระวางปรับสูงขึ้นเป็น 12,000 ดอลลาร์ต่อตู้
แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายไม่รุนแรง โดยช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ค่าระวางเรือปรับลดเหลือ 8,000-9,000 ดอลลาร์ต่อตู้ ซึ่งหากสถานการณ์ระหว่างอิหร่าน และอิสราเอลรุนแรง ค่าระวางปรับสูงขึ้นจะกระทบต้นทุนการส่งออก ดังนั้นต้องจับตาสถานการณ์นี้ใกล้ชิด
สรท.หวั่นฉุดตลาดยุทธศาสตร์ส่งออก
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สถานการณ์สงครามตะวันออกกลางน่าเป็นห่วงจึงต้องติดตามใกล้ชิด เพราะเป็นตลาดยุทธศาสตร์ของไทยที่วางไว้จะขยายการส่งออกซึ่งที่ผ่านมา การส่งออกเติบโตดี โดยการส่งออกไปตลาดซาอุดีอาระเบีย 8 เดือนแรกของปีนี้เติบโต 8% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เติบโต10% ดังนั้นไม่อยากให้สงครามบานปลายรุนแรงจนกระทบการส่งออกไทย
นอกจากนี้ ยังมองว่าจุดยุทธศาสตร์การขนส่งในตะวันออกกลาง คือ ช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งน้ำมันและก๊าซ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อ่อนไหว หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเช่น ปิดช่องแคบฮอร์มุซจะกระทบราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น
“ไม่ต้องการให้มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น นอกจากปัญหาที่มีอยู่เดิม เพราะจะกระทบการส่งออกไทย สถานการณ์แบบนี้เป็นระเบิดเวลาที่มาเร็วกว่าที่คิด คงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และฝากถึงผู้ส่งออกติดตามในเรื่องการชำระเงินและการส่งมอบสินค้า” นายชัยชาญ กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์