‘จิรายุส’ แนะไทยมุ่งคว้าโอกาสใหม่ ช่วงยุคทองอาเซียน
“จิรายุส” แนะผู้นำไทยต้องเข้าใจโลก ก่อนกำหนดนโยบายประเทศ ชี้ไทยต้องสร้างรากฐานเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ลดระดับหนี้ครัวเรือนระยะยาว เรียกเชื่อมั่นตลาดทุน เริ่มเดินหน้านโยบายเน็ตซีโร่ เตรียมแรงงานยุคใหม่ ระบุความร่วมมืออาเซียนเป็นโอกาสสร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจ
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวเสวนาในงาน “The Future of Thailand: Perspectives from Leaders of Different Generation” จัดโดยบิทคับ ร่วมกับ FCCT ว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาผู้นำไทยไม่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติ อาทิ เวที Wolrd Economic Forum ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่มีการพูดคุยถึงทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ซึ่งทำให้ไทยพลาดโอกาส ทั้งนี้การเชื่อมต่อกับโลกจะทำให้การเข้าใจมุมมองระดับโลกเพื่อสร้างกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับประเทศ เปรียบเทียบกับบริษัทที่ต้องเข้าใจแนวโน้มโลกก่อนที่จะกำหนดทิศทาง
“ผู้นำไทยจะต้องเชื่อมต่อกับโลกเพื่อเข้าใจมุมมองระดับโลกและพัฒนากลยุทธ์ที่มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับอนาคตของประเทศ”
สร้างรากฐานให้มั่นคง
การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างรากฐานที่มั่นคง ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงถึง 93% สูงสุดเป็นประวัติการณ์
อีกทั้ง การสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อตลาดทุนไทยเกี่ยวกับปัญหาด้านธรรมาภิบาล ซึ่งจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินมาตรการในการกำกับดูแล เพื่อดึงเงินทุนให้กลับเข้ามาในประเทศ
นอกจากนี้ การริเริ่มในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การบรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร่ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ มีความจำเป็นที่ไทยจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบการค้าโลกใหม่ ไม่อย่างนั้นไทยจะเผชิญกับเงินทุนไหลออกในอีก 6 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจำเป็นต้องฝึกแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะที่เหมาะสมกับอนาคต โดนเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้ไทยผลิตบัณฑิตจบใหม่ในสาขาดังกล่าวน้อยกว่าเวียดนามถึง 50 เท่า
มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
นายจิรายุส กล่าวต่อว่า เมื่อไทยสามารถรักษารากฐานของเศรษฐกิจให้มั่งคงได้แล้ว ก้าวต่อไปที่ประเทศไทยควรจะทำมีอยู่ 4 เรื่อง ประกอบด้วย
การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ลดการพึ่งพาการค้าทางกายภาพ (Physical Trade) การพึ่งพิงการส่งออกสินค้าที่สามารถจับต้องได้ เช่น ยางพารา รถยนต์ ซึ่งขาดการสร้างมูลค่าเพิ่มและมีกำไรส่วนต่างน้อย เพราะสินค้าประเภทนี้มีการแข่งขันการตัดราคา
“ประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนในเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าที่ล้ำสมัย เช่น AI, Big Data, Blockchain, IoT, Internet from the Sky และเทคโนโลยีด้านความยั่งยืน ซึ่งเหล่านี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ และเป็นการหาโอกาสใหม่ในการแข่งขันบลูโอเชียน ที่ยังมีผู้เล่นน้อยราย”
นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ควรเป็นกระทรวงเกรดเอ และเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อสร้างกิจกรรมและโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ
เร่งมาตรการสีเขียว
การดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคเอกชนจะต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) และการกำหนดราคาคาร์บอนภายในปี 2029 เพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษที่อาจจำกัดความสามารถในการส่งออกและเข้าถึงสินเชื่อ
“ไทยจำเป็นต้องจัดเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นให้บริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค”
เปิดกว้างรับลงทุนต่างประเทศ
นายจิรายุส กล่าวว่า การสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่อาเซียนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคทอง ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการแข่งขันในการเปิดกฎระเบียบเพื่อดึงดูดความสนใจและการลงทุนจากทั่วโลก
“ผมไม่เห็นด้วยที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการเงิน ตอนนี้เราเริ่มช้าไปแล้ว 50 ปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ไทยจะไปแข่งกับซาอุฯ ซึ่งที่ไทยควรทำคือหาโอกาสในบลูโอเชียน อาทิ การสร้างเน็ตเวิร์คด้านดิจิทัล”
เตรียมพร้อมสังคมสูงวัย
ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเข้ามาของ AI จะต้องคำนึงว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยเฉพาะประชากรผู้สูงอายุ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของทักษะในตลาดแรงงานอย่างรวดเร็ว
“ในอีกห้าปีข้างหน้า เกือบครึ่งหนึ่งของทักษะที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจล้าสมัย ซึ่งจำเป็นต้องมีการฝึกทักษะใหม่และเสริมทักษะให้กับแรงงาน จะต้องมีการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อปรับตัวกับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงและมองหาโอกาสใหม่ในอนาคต”
นอกจากนี้ ไทยควรให้ความสำคัญของการร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเข้าสู่ "ยุคทอง" และเดินหน้าข้อตกลงการบูรณาการที่สำคัญ เช่น ข้อตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัล การบูรณาการการชำระเงินระดับภูมิภาค ซึ่งจะมีผลผูกพันตามกฎหมาย และเพิ่มการเคลื่อนไหวและการค้าในภูมิภาค
ข้อตกลงเหล่านี้คาดว่าจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยอินโดนีเซียอาจเติบโตเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และประเทศเล็กๆ อย่างลาวและเมียนมาอาจเติบโตเพิ่มขึ้น 3-5 เท่า
"ประเทศไทยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและใช้แนวทางการบูรณาการในภูมิภาคเพื่อรักษาเสียงที่แข็งแกร่งในเวทีโลก" นายจิรายุส กล่าวทิ้งท้าย