'สายการบิน' วอนรัฐออกมาตรการหนุนใช้ SAF เตรียมนำร่อง 1% ในปี 69
สมาคมสายการบินประกาศความพร้อม รับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม สู่เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จี้ภาครัฐกำหนดนโยบายลดต้นทุน หนุนใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ขณะที่ กพท.กำหนดปี 2569 เตรียมประกาศบังคับสายการบินใช้สัดส่วนน้ำมัน SAF 1%
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมการบินกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญ ของการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การนำเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน (SAF) มาใช้การพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการปรับใช้คาร์บอนเครดิตที่เป็นระบบ จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่สายการบินต้องปรับตัว
อย่างไรก็ดี สมาคมสายการบินประเทศไทยเล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญที่ต้องทำในการนำทิศทางความยั่งยืนให้เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการบิน ดังนั้นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่ดีให้ได้เรียนรู้และเตรียมความพร้อมสำหรับการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมการบินของไทยในอนาคต
"การจัดงานครั้งนี้ เพื่อร่วมมือกับภาครัฐในการทำงานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพราะขณะนี้ทุกสายการบินยอมรับที่จะใช้น้ำมัน SAF และช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมในภาวะที่เราต้องร่วมดูแล เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050"
สำหรับข้อกำหนดของภาครัฐที่เตรียมประกาศบังคับใช้ในปี 2569 ให้สายการบินต้องเพิ่มสัดส่วนใช้น้ำมัน SAF 1% คงต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันดังกล่างเป็นต้นทุนที่แพงกว่าเชื้อเพลิงปกติ 3 เท่า ดังนั้นการทยอยเอามาเป็นส่วนผสมเล็กน้อย ถือเป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้บริหารจัดการต้นทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างไรก็ดี ในฐานะภาคเอกชนยังคงหวังว่าภาครัฐจะมีแนวทางทำให้ต้นทุนเหล่านี้ปรับลดลงได้ ไม่ว่าจะเกิดจากวิธีลดต้นทุนการผลิต หรือภาครัฐจะเข้ามาช่วยสนับสนุนต้นทุน เพื่อทำให้สายการบินเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมายต่อไปได้
นายพุฒิพงศ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วย คือ ความชัดเจนในการเดินหน้าแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และแนวทางที่จะสนับสนุนผู้ผลิตน้ำมัน SAF ข้อกำหนดข้อบังคับที่จะมีผลต่อผู้ใช้ รวมไปถึงสร้างการรับรู้ต่อผู้ใช้บริการภาคประชาชนทั่วไป ถึงมาตรการที่กำลังจะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมการบิน เพราะที่ผ่านมาภาครัฐได้ดำเนินการในส่วนของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เชื่อว่าจะเป็นผลบวกอย่างชัดเจนสำหรับการท่องเที่ยวไฮซีซั่นปลายปีนี้
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า กพท.ได้ทำแผนแม่บทขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยจะเดินหน้าผ่าน 4 เสาหลัก ประกอบด้วย
1.พัฒนาเทคโนโลยีด้านการบินเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด เครื่องยนต์ต้องประหยัดน้ำมัน
2.บริหารจัดการห้วงอากาศให้มีประสิทธิภาพ เกิดความคล่องตัว ใช้พลังงานน้อย
3. สนับสนุนสายการบินใช้ SAF ซึ่งประเด็นนี้คงต้องรอภาครัฐกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนผู้ผลิตน้ำมันด้วย
4.มาตรการตลาด ที่จะเข้ามาชดเชยผู้ประกอบการ
"วันนี้จะให้สายการบินเติมน้ำ SAF กี่เปอร์เซ็นต์ก็ทำได้ หากภาครัฐมีมาตรการชดเชย และต้นทุนสายการบินเท่าเดิม แต่ตอนนี้เราต้องเอาเป้าหมายประเทศมาเป็นตัวตั้ง เพื่อร่วมกันทำเรื่องนี้ด้วยกัน และดูโรดแมพ 4 เรื่องนี้ว่าจะเดินอย่างไร ส่วนสำคัญเป้าหมายนี้จะไปไม่ได้หากไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งเรื่องนี้ กพท.พร้อมสนับสนุนให้เกิดขึ้น"
นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน กพท.อยู่ระหว่างทำกฎระเบียบข้อบังคับที่จะใช้ในอุตสาหกรรมการบินเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จมีผลบังคับใช้ในปี 2569 โดยระยะแรกจะกำหนดให้สายการบินใช้น้ำมัน SAF 1% และหลังจากนั้นจะเพิ่มสัดส่วนอย่างต่อเนื่องในปี 2570 เป็น 2% โดยสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องดูที่ผู้ผลิตอาจมีซัพพลายไม่เพียงพอในการผลิตน้ำมัน SAF จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล