Micro SME 2.73 ล้านราย ส่วนใหญ่เจอปัญหาขาดพี่เลี้ยงทางธุรกิจ

Micro SME 2.73 ล้านราย  ส่วนใหญ่เจอปัญหาขาดพี่เลี้ยงทางธุรกิจ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้า สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่น ใช้เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศ เติมเต็มกลไกการค้า ขยาย Biz Shop ให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ หลังพบ Micro SME 2.73 ล้านรายขาดพี่เลี้ยงทางธุรกิจ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย หรือ Micro SME ที่มีจำนวนกว่า 2.73 ล้านราย จากการสำรวจพบว่า Micro SME ของไทยส่วนใหญ่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ คือ ไม่มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำ เครือข่ายพันธมิตรขาดความเข้มแข็ง ช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่ไม่หลากหลาย ขาดเงินทุน แหล่งเงินทุนสนับสนุน

รวมถึง ขาดโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องดำเนินธุรกิจไปตามความสามารถของแต่ละบุคคล ส่งผลให้ประสบภาวะขาดทุน และไม่สามารถยืนหยัดบนโลกธุรกิจได้ตลอดรอดฝั่ง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้วางแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ Micro SME นำร่องกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ที่อยู่ในการส่งเสริมและกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นการผนึกกำลังบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชนเพื่อเติมเต็มกลไกการค้าทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจระยะยาว

สำหรับปีงบประมาณ 2568 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตรียมดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มโอกาสทางการค้า ขยายช่องทางการตลาดและการจำหน่ายสินค้า พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ได้แก่ ‘สร้างโอกาสทางการค้าและเพิ่มช่องทางการตลาดชุมชน’ โดยดำเนินการคัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพจากผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจฯ ทั่วประเทศมาเชื่อมโยงกับพันธมิตรทางธุรกิจระดับประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้สินค้า เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบออนไลน์ กิจกรรมย่อยประกอบด้วย

Micro SME 2.73 ล้านราย  ส่วนใหญ่เจอปัญหาขาดพี่เลี้ยงทางธุรกิจ

1. สร้างเครือข่ายธุรกิจ สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มจับคู่พันธมิตร และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการถ่ายทอดประสบการณ์ ตลอดจนสร้างพันธมิตรทางการค้าที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

2. พัฒนาเครือข่ายธุรกิจ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก โดยสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทุกรูปแบบ ทั้งการพาออกงานแสดงและจำหน่ายสินค้า การเจรจาจับคู่ธุรกิจ การให้คำปรึกษาทางธุรกิจโดยผู้เชี่ยวชาญ และการอบรม/สัมมนาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ที่จำเป็นในการบริหารจัดการธุรกิจ

 3. เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ โดยมีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงการทำงาน ร่วมกันคิด พัฒนา แก้ไขปัญหา และดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ

แนวทางการพัฒนาฯ ทั้ง 3 ด้านจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจ ทำให้เกิดเครือข่ายทางธุรกิจที่มีศักยภาพพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทุกสถานการณ์ และก้าวสู่การเป็นนักการค้ายุคใหม่ที่มีความเข้มแข็ง นอกจากนี้ จะลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้ประกอบการเครือข่ายฯ ในแต่ละภูมิภาคเพื่อรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และแนวทางการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาจัดทำโรดแมพการพัฒนาผู้ประกอบการแต่ละท้องถิ่นต่อไป”นางอรมน กล่าว

นางอรมน กล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเดินหน้าขยาย Biz Shop ให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดย Biz Shop เป็นกลไกด้านการขยายช่องทางการตลาดและเปิดพื้นที่ให้สมาชิกเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศ นำสินค้าเข้าจำหน่ายเพื่อช่วยกระจายสินค้าและสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก โดย Biz Shop จะตั้งอยู่ภายในร้านขายของฝากฯ และสถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียงของแต่ละจังหวัด เป็นการขยายช่องทางการตลาดผ่านหน้าร้านที่มีนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ทำให้สมาชิกเครือข่ายฯ สามารถจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ต่อยอดความมั่นคงในการบริหารจัดการธุรกิจ

ปัจจุบันมี Biz Shop จำนวน 13 แห่ง ตั้งอยู่ที่ จ.ราชบุรี 2 แห่ง ชลบุรี นครนายก จันทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร นครพนม สงขลา พัทลุง เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อีกจังหวัดละ 1 แห่ง มั่นใจว่า Biz Shop ช่วยขยายช่องทางการตลาดได้จริงและเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน

หากมีการขยายให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว ยิ่งมั่นใจว่าจะช่วยขยายตลาด กระตุ้นยอดขาย และเป็นการสร้างการรับรู้สินค้าที่ทรงประสิทธิภาพและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการจะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระดับประเทศที่เข้มแข็ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยเป็นลำดับแรก ทั้งในแง่ขององค์ความรู้ด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การมีช่องทางตลาดใหม่ๆ ที่หลากหลาย รวมทั้ง มีพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ผู้ประกอบการกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร : 0 2547 4445 สายด่วน 1570 e-Mail : [email protected] และ www.dbd.go.th

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567) มีผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศ จำนวน 14,214 ราย แบ่งออกเป็น 12 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย กลุ่มอาหาร 4,583 ราย (32.24%) กลุ่มผ้า/เครื่องแต่งกาย 2,470 ราย (17.38%) กลุ่มบริการ 1,353 ราย (9.52%) กลุ่มสุขภาพและความงาม 984 ราย (6.92%) กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก 1,098 ราย (7.73%) กลุ่มเครื่องดื่ม 821 ราย (5.78%) กลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 688 ราย (4.84%) กลุ่มการเกษตร 474 ราย (3.33%) กลุ่มอุตสาหกรรม 424 ราย (2.98%) กลุ่มท่องเที่ยว 372 ราย (2.62%) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 226 ราย (1.59%) และการค้า 721 ราย (5.07%)

แบ่งผู้ประกอบการออกเป็นรายภูมิภาค ได้ดังนี้ ภาคกลาง (18 จังหวัด) 2,796 ราย (19.67%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (20 จังหวัด) 3,854 ราย (27.11%) ภาคเหนือ (17 จังหวัด) 3,271 ราย (23.01%) ภาคใต้ (14 จังหวัด) 1,569 ราย (11.04%) และภาคตะวันออก (8 จังหวัด) 1,343 ราย (9.45%)

แบ่งตามประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย นิติบุคคล 2,281 ราย (16.05%) ทะเบียนพาณิชย์ 1,840 ราย (12.94%) และ บุคคลธรรมดา 10,093 ราย (71.01%)