ราคาข้าวญี่ปุ่นพุ่ง เร่งนำเข้าทดแทน โอกาสทอง"ผู้ส่งออกข้าวไทย"

ราคาข้าวญี่ปุ่นพุ่ง เร่งนำเข้าทดแทน โอกาสทอง"ผู้ส่งออกข้าวไทย"

สคต.กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น เผย   ญี่ปุ่นต้องการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพิ่มจากปัญหาการขาดแคลนข้าวในประเทศ ดันราคาข้าวพุ่ง  เพิ่มโอกาสผู้ส่งออกไทย แต่ยังพบปัญหาเรื่องต้นทุนในการขนส่งและต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

KEY

POINTS

Key Point

  • ไทยส่งออกข้าวไปญี่ปุ่นเฉลี่ยปีละ  290,000-310,000 ตัน/ปี
  • ปี 66 ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกข้าวไทยอันดับ 6
  • อากาศร้อนจัดในปี 2566 และ 2567 ส่งผลให้ราคาข้าวญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้น

เว็ปไซต์จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  โดยสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.)  ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  รายงานว่า ความต้องการข้าวนำเข้าจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการขาดแคลนข้าวในประเทศญี่ปุ่นและการเพิ่มขึ้นของราคาข้าว ในปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้าข้าวต่างประเทศในรูปแบบข้าวเปลือกตามโควตา Minimum Access (MA) จำนวน 770,000 ตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปหรือสำหรับความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ในจำนวนนี้มีโควตาสำหรับการบริโภคหลักอยู่ที่ 100,000 ตัน ในรูปแบบข้าว SBS ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก

ในการประมูลข้าว SBS ครั้งแรกของปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 มีการยื่นขอซื้อสูงถึง 75,732 ตัน จากโควต้า 25,000 ตัน ซึ่งแสดงถึงอัตราการแข่งขันที่มากกว่าปกติถึงสามเท่า หากเทียบกับการประมูลครั้งแรกของปีงบประมาณ 2566 ที่มีอัตราการแข่งขันเพียง 1.1 เท่า ความต้องการข้าวที่สูงขึ้นส่งผลให้ราคาขายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจาก 263,245 เยนต่อตัน (ไม่รวมภาษี) ในปีก่อน (2565) เป็น 328,690 เยน (เพิ่มขึ้น 12%)

ดัชนีความนิยม (Popularity Index) ของผู้ประกอบการธุรกิจค้าข้าวคือค่า Markup หรือจำนวนเงินที่บวกเข้ากับตุ้นทุนเพื่อให้ได้ราคาขาย ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างราคาที่รัฐบาลซื้อข้าวจากผู้ส่งออกในต่างประเทศกับราคาที่ขายให้กับผู้นำเข้าในประเทศ ค่าเฉลี่ยของ Markup อยู่ที่ประมาณ 160 เยนต่อกิโลกรัม ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเดิมค่าเฉลี่ยที่เคยอยู่ที่ประมาณ 61 เยนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาตามรายประเทศ ข้าวเมล็ดกลางที่นำเข้ามาทดแทนข้าวในประเทศ ข้าวสหรัฐมีราคาสูงขึ้นจากปีก่อน 63,834 เยน เป็น 294,205 เยนต่อตัน ส่วนข้าวออสเตรเลียอยู่ที่ 285,201 เยน ซึ่งเป็นผลมาจากการนำข้าวต่างประเทศมาใช้ผสมกับข้าวในประเทศในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ข้าวเมล็ดยาวจากไทยที่นิยมใช้ในร้านอาหารไทยและเวียดนามมีความต้องการสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาขายของข้าวไทยพุ่งขึ้นเป็น 337,866 เยน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมและการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวสหรัฐและออสเตรเลีย

นายโยโกตะ ประธานบริษัท Thai Oriental Trading เป็นผู้ประกอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์ไทยและเวียดนามรายใหญ่ กล่าวว่า ภาพรวมส่วนใหญ่ของผู้ค้าปลีกปริมาณการขายข้าวหอมมะลิจากไทยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 40 ตันต่อเดือน เป็น 50 ตันในเดือนส.ค. เขายังให้ความเห็นอีกว่าร้านอาหารไทยและเวียดนามบางแห่งที่เคยใช้ข้าวญี่ปุ่นผสมกับข้าวไทย อาจหันมาใช้ข้าวไทยทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ อาทิเช่นบริษัท Kitoku Shinryo ซึ่งเป็นสมาชิกในระบบประมูลข้าวนำเข้าแบบ SBS ชี้ว่า ราคาข้าวต่างประเทศได้รับผลกระทบจากราคาข้าวในประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ แม้ว่าราคาข้าวในประเทศอาจลดลงเนื่องจากความต้องการที่ลดลง แต่ข้าวนำเข้าจากต่างประเทศมีความยืดหยุ่นทางราคาที่ต่ำ ยังคงมีโอกาสที่จะรักษาระดับราคาสูงเอาไว้

ทั้งนี้ การประมูลข้าว SBS เป็นลักษณะพิเศษที่ต้องมีการยื่นข้อเสนอจากผู้ผลิตข้าวในต่างประเทศ ตัวแทนผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายในประเทศร่วมกันในรูปแบบสัญญาซื้อขายพร้อมกัน การประมูลจะจัดขึ้นประมาณ 4 ครั้งต่อปี โดยจะเริ่มต้นรอบแรกในเดือนก.ย.ซึ่งตรงกับการเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ของสหรัฐอเมริกา

ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำสัญญานำเข้าข้าวเหนียวและข้าวเจ้าไทย เป็น ข้าว MA จำนวนประมาณ 288,000 ตัน คิดเป็น 47% ของข้าว MA ที่ญี่ปุ่นนำเข้าทั้งหมด การนำเข้าข้าว MA ที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเชื่อมโยงกับการนำเข้าข้าวจากไทยที่มากขึ้น

สคต.ญี่ปุ่น  เผยว่า  อากาศร้อนจัดในปี 2566 และ 2567 ส่งผลให้ราคาข้าวญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้น จากความคิดเห็นของบริษัทค้าปลีกต่างๆ พบว่ามีความต้องการข้าวไทยได้เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนส.ค.ถึงก.ย.แม้ว่าราคาข้าวญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้นจะสร้างโอกาสให้ข้าวไทยขยายตลาด แต่การแข่งขันในการประมูลของกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่นกลับทำให้ราคาข้าวนำเข้าสูงขึ้นมาก จากการสัมภาษณ์ผู้นำเข้าข้าวไทยพบว่าต้นทุนในการขนส่งและต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นยังไม่ได้สะท้อนในราคาขายปลีกของสินค้าข้าว นอกจากนี้ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปรับขึ้นราคาข้าวในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ในแต่ละปีไทยส่งออกข้าวไปญี่ปุ่น ประมาณ 290,000-310,000 ตัน/ปี ครองส่วนแบ่งตลาดข้าวในญี่ปุ่น ประมาณ 46.74% โดยข้าวไทยที่ส่งออกไปญี่ปุ่น ประมาณ 96% เป็นข้าวขาว ส่วนที่เหลือเป็นข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิไทย และปลายข้าว โดย ในปี 66 ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกข้าวไทยอันดับ 6 และเป็นตลาดส่งออกข้าวขาวของไทยอันดับ 3