WTOหนุนปรับโครงสร้างแวลูเชน“เหล็ก” สู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในหลายประเทศรวมถึงภาวะอุปทานส่วนเกินในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ความต้องการใช้เหล็กในหลายอุตสาหกรรมชะลอตัว แต่จังหวะนี้อาจเหมาะสมที่จะปรับโครงสร้างให้อุตสาหกรรมเหล็กก้าวไปสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ
เมื่อเร็วๆนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้จัดฟอรัมสาธารณะขึ้นในหัวข้อ Re-Shaping Low Emission Steel Value Chains ซึ่งมีผู้บริหารอุตสาหกรรมเหล็กมาเล่าถึง บทบาทสำคัญของการค้าและการกำหนดมาตรฐานเพื่อการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ความคิดริเริ่มว่าด้วยหลักการมาตรฐานเหล็ก ซึ่งเปิดตัวในงานประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ หรือ COP28 เมื่อปี2566
เอ็ดวิน บาสสัน ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมเหล็กโลก กล่าวว่า แนวความคิดดังกล่าวอยู่บนความเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมเหล็กกำลังดำเนินไปในเส้นทางที่ถูกต้องในการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งความสำคัญของการมีนโยบายสนับสนุน รวมถึงการกำหนดแนวทางด้านการค้าและวิธีการวัดการปล่อยมลพิษร่วมกันจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการบรรลุเป้าหมาย
“แม้จะมีข้อจำกัดด้านเวลา ข้อจำกัดด้านเงินทุน การฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนา แต่ฉันค่อนข้างมั่นใจว่าอุตสาหกรรมเหล็กโลกกำลังอยู่ในเส้นทางที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสิ่งนี้จะมองเห็นได้ภายในปี 2030 และ 2040”
ด้านแอนน์ ฟาน อิเซนดิก รองประธานและหัวหน้าฝ่ายกิจการรัฐบาลและสิ่งแวดล้อมของ Arcelor Mittal กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องเผชิญคือการขาดนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนทั้งที่เป็นบทบาทเร่งสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงความพร้อมและความสามารถในการซื้อพลังงานสะอาดซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมนี้
“เพื่อที่จะกระตุ้นการลดการปล่อยคาร์บอนขนาดใหญ่ เราจำเป็นต้องมีนโยบายด้านสภาพอากาศและนโยบายการค้ามาบรรจบกันมากขึ้นและขจัดอุปสรรค แทนที่จะสร้างอุปสรรคมากขึ้นเรื่อยๆ”
แอดินา รีนี แอดเลอร์ ผู้อำนวยการบริหาร Global Steel Climate Council กล่าวว่าจากการทำงานเกี่ยวกับวิธีการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันผ่านความคิดริเริ่มต่างๆ เช่น หลักการมาตรฐานเหล็ก ซึ่งมุ่งเน้นที่จะปรับวิธีการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนเหล็กให้สอดคล้องกัน
“ธุรกิจต่างๆ ต้องมีตลาดที่เปิดกว้าง โปร่งใส และคาดเดาได้ ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของ WTO นั่นหมายถึงการทำให้แน่ใจว่าวิธีการ การคำนวณ ข้อมูล และทุกสิ่งที่คุณต้องการทราบเกี่ยวกับวิธีการที่สมาชิกของเราจะดำเนินการไปถึงจุดหมายนั้นสามารถเข้าถึงได้โดยเสรี”
ทั้งนี้ กลยุทธ์ต่างๆ เช่น หลักการหกประการสำหรับการพัฒนามาตรฐานระหว่างประเทศ คู่มือ และคำแนะนำของคณะกรรมการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) ของ WTO นั้น เป็นหัวใจสำคัญของทุกสิ่งที่อุตสาหกรรมเหล็กต้องการดำเนินการ ซึ่งในที่นี้ต้องรวมถึงจรรยาบรรณการปฏิบัติที่ดีของข้อตกลง TBTด้วย
ด้าน อึงโกซี โอโกนโจ-อิเวลา ผู้อำนวยการใหญ่WTO กล่าวในการประชุมว่า การปรับเปลี่ยนค่าการปล่อยมลพิษต่ำในภาคส่วนอุตสาหกรรมเหล็กกำลังสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่สำคัญสำหรับประเทศต่างๆ และบริษัทต่างๆ เพราะเป็นการตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจที่ว่าด้วยการปล่อยคาร์บอนที่เป็นศูนย์
“ความสามารถของประเทศต่างๆในการจัดหาปัจจัยการผลิตที่ปล่อยมลพิษต่ำให้กับห่วงโซ่คุณค่ากำลังกลายเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และเราเห็นสิ่งนี้ชัดเจนในภาคส่วนของอุตสาหกรรมเหล็ก”
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในผู้ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของโลก จึงต้องเผชิญกับความท้าทายสองประการ คือ การรักษาบทบาทสำคัญในการค้าโลกไปพร้อมกับการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญ
โดยการผลิตเหล็กกล้าทั่วโลกเกือบ 25% ข้ามพรมแดนไปสู่พื่้นที่ต่างๆ การผนวกแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนเข้ากับอุตสาหกรรมนี้จึงไม่เพียงแต่มีความจำเป็นต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นสำคัญในตัวของภาคการค้าเองอีกด้วย
สำหรับสำนักงานเลขาธิการWTO สนับสนุนความพยายามในการช่วยเหลือการเปลี่ยนแปลงสีเขียวของภาคส่วนอุตสาหกรรมเหล็กกล้าผ่านหลักการมาตรฐานเหล็กกล้า ซึ่งได้รับการรับรองจากผู้ผลิตเหล็กกล้ารายสำคัญกว่า 50 ราย รวมถึงสมาคมอุตสาหกรรม และหน่วยงานกำหนดมาตรฐาน ,องค์กรระหว่างประเทศ และโครงการริเริ่มต่างๆ ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมให้ก้าวข้ามสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างมีความพร้อมได้ทันที
เมื่อเร็วๆนี้ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ผู้บริหารของ บมจ. จี สตีล และ บมจ. จี เจ สตีล ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย ที่ถือหุ้นหลักโดยบริษัท นิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าหารือกับบีโอไอ เพื่อลงทุนปรับปรุงสายการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ด้วยมูลค่าลงทุนกว่า 4,500 ล้านบาท ภายในระยะ 3 ปีข้างหน้า
ประกอบด้วยการลงทุนของ บมจ. จี สตีล ที่จังหวัดระยอง 3,000 ล้านบาท และ บมจ. จี เจ สตีล ที่จังหวัดชลบุรี 1,500 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัย พัฒนาคุณภาพและขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายยิ่งขึ้น ยกระดับสายการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตเหล็กที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงการพัฒนาระบบจัดการวัตถุดิบเหล็กรีไซเคิลเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มความคล่องตัวในกระบวนการผลิต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ
กลุ่มนิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น (NSC) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของจี สตีล และ จี เจ สตีล เป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ได้ก่อตั้งสายการผลิตแรกในประเทศไทยมากว่า 60 ปี เริ่มจากการผลิตท่อเหล็กก่อนขยายสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยมีบริษัทในเครือกว่า 30 แห่ง มีพนักงานในไทยรวมกันกว่า 8,000 คน
เมื่อปี 2565 ได้เข้าร่วมลงทุนใน บมจ. จี สตีล และ บมจ. จี เจ สตีล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของไทย ปัจจุบันกลุ่มบริษัท จี สตีล และ จี เจ สตีล เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนครบวงจรแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นกลุ่มบริษัทเดียวที่ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (Electric Arc Furnace) ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ และยังเป็นผู้รีไซเคิลเศษเหล็กรายใหญ่ในประเทศไทย ที่ได้รับใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของไทย และสอดรับกับทิศทางความต้องการผลิตภัณฑ์เหล็กที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำในตลาดโลก
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการใช้เหล็กต่อคน (Steel consumption per capita) มากที่สุดในอาเซียน คือประมาณ 234 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กในประเทศไทยประมาณ 180 ราย แบ่งเป็นเหล็กทรงยาวประมาณ 100 ราย และเหล็กทรงแบนประมาณ 80 ราย
โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเหล็กเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 60% รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 20% เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 7% เครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม 5% และบรรจุภัณฑ์ 5% และอื่น ๆ 3%
โดยที่ผ่านมาตลาดเหล็กในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแข่งขันอย่างรุนแรงจากภาวะ Oversupply และการเร่งระบายเหล็กจากประเทศจีนออกสู่ตลาดโลก
การที่กลุ่มจี สตีล และ จี เจ สตีล ตัดสินใจขยายการลงทุนในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับขีดความสามารถและประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทเหล็กในประเทศไทย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของกติกาการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะตลาดกลุ่มยุโรปในอนาคต