“สุริยะ” คาดพ.ร.บ.SEC ประกาศใช้ปี 68หนุนโปรเจกต์แลนด์บริดจ์
“สุริยะ” หารือเอกชนจีน หนุนเปิดออฟฟิศในไทย ปูทางพัฒนาโปรเจกต์ยักษ์ เปิดช่อง“แลนด์บริดจ์” โครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค คาด พ.ร.บ. SEC เริ่มประกาศใช้ปี 68 - ก่อสร้างระยะที่ 1 ภายในปี 73
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังนาย เหยียน เจี้ย เหอ ผู้ก่อตั้งบริษัท Pacific Construction Group และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะและหารือโอกาสในการดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนก่อสร้าง และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ของบริษัทฯ ว่า บริษัท Pacific Construction Group เป็นบริษัทระดับโลกที่มีประสบการณ์การลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายรูปแบบกับภาครัฐและเอกชน ทั้งในจีนและต่างประเทศ
โดยมีแผนจัดตั้งบริษัท Pacific Construction (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมกับสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน การก่อสร้าง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในประเทศไทย
การเข้าพบครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีในการหารือในรายละเอียดถึงเป้าหมายและทิศทางการลงทุนในประเทศไทย
ของบริษัทฯ สำหรับประเทศไทยมีโครงการลงทุนและการใช้เทคโนโลยีต่างประเทศมาสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย เช่น การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ อาทิ การสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ
ยกระดับท่าเรือเชื่อมต่อขนส่งสินค้า
การยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า การพัฒนาโครงข่ายถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างมอเตอร์เวย์และทางพิเศษ และการพัฒนาสนามบินที่มีอยู่ในปัจจุบันและการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) และสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งได้กำหนดรูปแบบเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยรัฐบาลจะดำเนินการจัดหาที่ดินและให้สิทธิเอกชนดำเนินงาน ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้าง บริหารจัดการ และรับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการเป็นระยะเวลา 50 ปี พร้อมทั้งส่งเสริมต่อยอดอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ ซึ่งในอนาคตแลนด์บริดจ์จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน
ช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเลและต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ขณะนี้โครงการฯ อยู่ในช่วงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลต่าง ๆ คาดว่าพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) จะเริ่มประกาศใช้ในช่วงปี 2568 และจะดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ภายในปลายปี 2573 ต่อไป
เอกชนจีนในไทยร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยี
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมยินดีให้การสนับสนุนการจัดตั้งบริษัทฯ ในประเทศไทย อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประเทศไทยผ่านการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ความเชี่ยวชาญ โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยเพื่อสนับสนุนการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคต่อไป
“ผมขอขอบคุณที่มาเข้าพบในวันนี้ และมีความยินดีที่จะเห็นการดำเนินโครงการของบริษัท Pacific Construction (ประเทศไทย) ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งในไทยต่อไป”
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ในโอกาสการประชุมคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน (JC) ครั้งที่ 31 และการประชุมหารือด้านการคมนาคมขนส่งกับหน่วยงานภาครัฐของจีน ไทยได้จัดงาน“Thailand Landbridge Roadshow”เมื่อ 8 พ.ค.2567 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
มีนักลงทุนภาคธุรกิจของจีน ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน จำนวน 30 บริษัทประกอบด้วย ผู้ประกอบการสายการเดินเรือ ผู้ประกอบการด้านการบริหารท่าเรือ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการด้านการเงิน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลังท่า ผู้ประกอบการประกันภัย ผู้ประกอบการด้านการก่อสร้าง เช่น บริษัท COSCO Shipping Lines (Beijing) บริษัท Sinotrans Overseas Development บริษัท China Harbour Engineering
นอกจากนี้ ยังมีภาคการเงิน อย่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนเข้าร่วมรับฟังข้อมูล และบริษัท China Railway International Development บริษัท Hutchison Ports บริษัท China Machinery Engineering Corporation บริษัท China Shandong International Economic & Technical Cooperation Grop และบริษัท Xiaomi Corporation เป็นต้น
โปรเจกต์เชื่อมโยงอ่าวไทย-อันดามัน
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ได้กำหนดรูปแบบการลงทุนเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยรัฐบาลจะดำเนินการจัดหาที่ดินและให้สิทธิเอกชนดำเนินงาน ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้าง บริหารจัดการ และรับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการเป็นระยะเวลา 50 ปี
พร้อมทั้งส่งเสริมการต่อยอดอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม 5 New S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งในอนาคตโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน
ตลอดจนยังช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล และต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เกิดเป็นศูนย์กลางการขนส่งและการค้าแห่งใหม่ของโลก ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว ให้นานาประเทศได้รู้จักโครงการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนที่มีศักยภาพจากหลายประเทศให้ความสนใจโครงการ อาทิ สหรัฐ สหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และประเทศฝั่งตะวันออกกลาง