ครม.เคาะต่ออายุCredit Lineกฟผ. ดูแลค่าไฟประชาชน-อุ้มสภาพคล่อง

ครม.เคาะต่ออายุCredit Lineกฟผ.  ดูแลค่าไฟประชาชน-อุ้มสภาพคล่อง

รัฐบาลใช้นโยบายลดค่าไฟฟ้า โดยกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)รับภารค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที)ไปก่อนที่ผ่านมา กฟผ.ได้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และบริหารภาระค่าเอฟทีรวมแล้ว 110,000 ล้านบาท

โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่ กกพ. มีมติที่เรียกเก็บ 4.68 บาทต่อหน่วย จะยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ของ กฟผ. เป็น 2 ปี (6 งวด ตั้งแต่ ม.ค.2567-ธ.ค.2568)​ ซึ่งหาก กฟผ.ต้องกู้เงินเพิ่ม จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้ของ กฟผ.จะสูงจนเกินไป กระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของ กฟผ.ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น รวมถึงกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะของประเทศขยับตัวสูงขึ้นด้วย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 2 ต.ค. 2567 ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติการต่ออายุเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line ของกฟผ. วงเงินปีละ 30,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 2567 เป็นต้นไป

 ภายใต้เงื่อนไขเดิม ประกอบด้วย กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) โดยให้พิจารณาทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินที่เสนอรูปแบบที่มีต้นทุนต่ำที่สุดตามอัตราดอกเบี้ยตลาด โดยกระทรวงการคลัง (กค.) ไม่ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้เงิน

กู้ระยะสั้นเสริมสภาพคล่ององค์กร

สาระสำคัญมติดังกล่าวเป็นไปตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ว่าด้วย1. วงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line ที่ กฟผ. ได้รับความเห็นชอบจากมติครม.เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2564 และ 26 ก.ค. 2565 ซึ่งหมดอายุลงในวันที่ 11 ก.ย. 2567 แต่ กฟผ. ยังมีความจำเป็นต้องใช้วงเงินกู้ดังกล่าว เพื่อรองรับการบริหารสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพและเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องในระหว่างเดือน สำหรับการดำเนินงานของ กฟผ. เนื่องจากการดำเนินงานของ กฟผ. จำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเป็นจำนวนที่สูงมาก

โดยมีรายจ่ายประจำที่ต้องชำระ ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อกระแสไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายลงทุน และอื่น ๆ รวมทั้งรายจ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐ เช่น นโยบายการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า โดย กฟผ. ช่วยรับภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) แทนประชาชนไว้ก่อน ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. รับภาระค่า Ftค้างรับ ณ เดือนส.ค. 2566 จำนวน 95,777 ล้านบาท และมีภาระเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง รวม 72,000 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง จำนวน 17,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อบริหารภาระค่า Ft จำนวน 55,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กฟผ. อาจได้รับความเสี่ยงที่ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงจะสูงกว่าประมาณการ ทำให้มีผลกระทบต่อประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ. อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการประชุมครั้งที่ 1/2567เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. ต่อเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line ตามที่ครม.มีมติอนุมัติดังกล่าว

ห่วงหนี้แสนล้านฉุดเครดิตเรตติ้ง 

รายงานข่าวจาก กฟผ. ระบุว่า ปัจจุบันกฟผ.มียอดแสดงทางบัญชีเมื่อปลายปี 2565 ที่ 1.1แสนล้านบาท กำหนดแบ่งจ่ายเป็น 7 งวด จะสิ้นสุด งวดสุดท้ายเม.ย.2568 ซึ่งมีความพยายามเรียกร้องให้ลดค่าไฟฟ้าโดยการชะลอการจ่ายหนี้ตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งในทางหลักการสามารถทำได้แต่ในทางปฏิบัติจะส่งผลเสียหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานะเครดิตของกฟผ.ให้ลดลงและจะทำให้ต้นทุนการกู้เพื่อการลงทุนในอนาคตจะสูงขึ้นและกลางเป็นวงจรกลับไปที่ประชาชนที่ต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างไม่รู้จบ

ในส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นมาจากการกู้โดยให้เครดิตกฟผ.เอง 1.1แสนล้านล้าน เป็นการเปิดโอดีไลน์ (เบิกเมื่อไหร่ก็คิดดอกเบี้ยเมื่อนั้น) 3 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 1.4แสนล้านบาท โดยเงินกู้เป็นแบบระยะสั้นต้องชำระคืนตามแผนหากไม่เป็นไปตามนั้นก็จะเพิ่มภาระดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลในระยะสั้นที่จะได้รับทันทีคือ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากจะนำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายการผลิต 

ส่วนผลกระทบในระยะยาวก็คือ แผนการลงทุน เช่น การขยายสายส่ง การพัฒนาระบบการผลิต จะได้รับผลกระทบเพราะไม่มีเงินไปลงทุนและหากจะกู้ก็จะมีต้นทุนการกู้ที่สูงขึ้นตามสัดส่วนเครดิตที่ลดลงจากปัญหาหนี้ที่สะสมไว้

เปิดต้นทุนการเงินกฟผ.ดอกเบี้ย1-5%

      สำหรับต้นทุนทางการเงินโดยเฉลี่ยของกฟผ.อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1-5% จากการออกพันธบัตรEGAT ซึ่งเมื่อรวมกับต้นทุนค่าพลังงาน โดยเฉพาะจากแอลเอ็นจี ซึ่งที่ผ่านมาช่วงพีคที่สุด ราคาอยู่ที่ 19 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรพุ่งสูงเป็นเท่าตัวจากค่าก๊าซเเอลเอ็นจีที่เฉลี่ยที่เคยใช้ที่ ทำให้ค่าไฟฟ้าจริงจะสูงมากแต่ที่ผ่านมา กฟผ.ช่วยจ่ายส่วนต่างให้เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนจึงเป็นที่มาของหนี้สินก้อนใหญ่ในปัจจุบันนี้

สำหรับงบการเงินปี 2564 -2565 ของ กฟผ. รายงานต่อ ครม. เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 ซึ่งชี้ชัดในข้อเท็จจริงจากสถานะการเงิน ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. มีเงินสดในมือประมาณ 91,000 ล้านบาท

ส่วนมาตรฐานทางการเงินของ กฟผ. นั่นจะต้องคงสถานะเงินสดไม่ให้ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หากเมื่อใดมีแนวโน้มว่าจะลดต่ำลงกว่ามาตรฐานนี้ กฟผ. จะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ทันที