จีดีพีไทยรั้งท้ายอาเซียน“เวิล์ดแบงก์ ”ชี้โต2.4%แม้มี“วอลเล็ต”ปัจจัยบวก

จีดีพีไทยรั้งท้ายอาเซียน“เวิล์ดแบงก์ ”ชี้โต2.4%แม้มี“วอลเล็ต”ปัจจัยบวก

ความยากลำบากด้านเศรษฐกิจของไทยและทั่วโลก ดูเหมือนสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นหากอ้างอิงจากรายงานอัพเดทเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก(East Asia and Pacific Economic Update) จัดทำและเผยแพร่โดย ธนาคารโลก(World Bank)

สาระสำคัญส่วนหนึ่งระบุว่า จีดีพีของประเทศไทยปี 2567  คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.4% ซึ่งเป็นการประเมินในเดือนต.ค.2567เป็นอัตราคาดการณ์ที่ลดลงจากการประเมินก่อนหน้านี้เมื่อเม.ย. 2567 ซึ่งกำหนดไว้ที่  2.8%  

ส่วนคาดการณ์ปี 2568 ประเทศไทยจะขยายตัวได้ที่ 3.0%

นอกจากการปรับลดอัตราขยายตัวแล้วหากประเมินประเทศไทยกับเพื่อนบ้านอาเซียนพบว่า ปี 2567 ไทยยังมีอัตราขยายตัวที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 6.0% มาเลเซีย4.9% อินโดนีเซีย 5.0% เวียดนาม 6.1%และจีน 4.8% 

“องค์ประกอบที่มีผลต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน การส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ ก็พบว่า ภาคบริโภคเอกชนหลายประเทศยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ฟิลิปปินส์ และจีน ขณะที่ไทยเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามคือการบริโภคของเอกชนลดลง ด้านการส่งออกก็มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้เล็กน้อยมากต่างจากมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม พบว่าไทยเข้าวินในส่วนการส่งออกบริการเช่นเดียวกับ มาเลเซียและฟิลิปปินส์”

ในปี 2568 เอเชียและไทยต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงและความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจสูงมาก ทำให้ภูมิภาคนี้แม้จะเติบโตแต่ก็เป็นอัตราชะลอตัวที่ 4.4%  เนื่องจากการชะลอตัวของจีนจากปัจจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์อ่อนแอ ความเชื่อมั่นบริโภคและนักลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ ยังไม่รวมปัญหาสังคมสูงวัยและความตึงเครียดทั่วโลก แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นการยกระดับการเติบโตในระยะสั้น ขณะที่การเติบโตในระยะยาวยังต้องดูการปฎิรูปเชิงโครงสร้างต่อไป จึงคาดกว่าปี 2568 เศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้เพียง 4.3% 

       “ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการค้าโลกและการปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นปกติ และปัจจัยเฉพาะประเทศ เช่น โปรแกรม Digital Wallet ของประเทศไทย ต่างส่งเสริมการเติบโตซึ่งกันและกันแต่ความท้าทายก็มากเกินกว่าที่จะทำให้ภูมิภาคนี้ยังไม่สามารถเติบโตได้ก่อนช่วงโควิด-19”   

มานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า  การเติบโตเริ่มชะลอตัว เพื่อรักษาการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะกลางไว้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะต้องดำเนินการเชิงรุกในการปรับปรุงและปฏิรูปเศรษฐกิจของตนให้ทันสมัยเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบทางการค้าและเทคโนโลยี

รายงานยังเน้นปัจจัยสามประการที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตในภูมิภาค ได้แก่

1.การเปลี่ยนแปลงการค้าและการลงทุน

2.การชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน

และ3.ความไม่แน่นอนของนโยบายระดับโลกที่เพิ่มขึ้น

ประการแรก ความตึงเครียดทางการค้าล่าสุดระหว่างสหรัฐและจีนได้สร้างโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ เช่น เวียดนามได้ขยายบทบาทของตนในห่วงโซ่มูลค่าโลก(Global Value Chains)ด้วยการ “เชื่อมโยง(connecting)” พันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ โดยพบว่าบริษัทเวียดนามที่ส่งออกไปยังสหรัฐ มียอดขายเติบโตเร็วกว่าบริษัทที่ส่งออกไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ เกือบ25% ในระหว่างปี พ.ศ.2561 - 2564

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานใหม่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอาจถูกจำกัดให้มีบทบาทเป็น “ตัวเชื่อมโยงทางเดียว(one-way connector)” มากขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดกฎเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้า (rules-of-origin)ที่เข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับการนำเข้าและการส่งออก

ประการที่สอง เศรษฐกิจจีน ได้รับประโยชน์จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของจีนตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่ขนาดของแรงกระตุ้นดังกล่าวกำลังลดลง จีนดึงประเทศอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยความต้องการนำเข้า แต่ขณะนี้การเติบโตดังกล่าวยังต่ำกว่าจีดีพีเสียอีก โดยการนำเข้าเติบโตเพียง2.8% ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปีนี้ เทียบกับราว6 %ต่อปีในช่วงทศวรรษก่อนหน้า

ประการที่สาม ความไม่แน่นอนของนโยบายระดับโลก อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก นอกจากความไม่แน่นอนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 0.5% และราคาหุ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ลดล1%

     นอกจากนี้ ในรายงานได้ศึกษาว่าประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อสร้างงานทั้งเทคโนโลยี หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม ปัญญาประดิษฐ์ (AI)และแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งส่งผลต่อตลาดแรงงานในภูมิภาค ระหว่างปี พ.ศ.2561ถึง 2565

ในส่วนการนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วยสร้างงานให้กับแรงงานที่มีทักษะอย่างเป็นทางการประมาณ 2 ล้านคน  หรือ คิดเป็น 4.3% ของแรงงานมีฝีมือ  เพราะทำให้มีผลิตภาพที่สูงขึ้นและขนาดการผลิตเพิ่มขึ้น แต่หุ่นยนต์ก็ได้เข้ามาแทนที่แรงงานที่มีทักษะต่ำประมาณ 1.4 ล้านคน  หรือ คิดเป็น 3.3% ของแรงานทักษะต่ำในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ประเทศ

เมื่อพิจารณาถึงประเภทของงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้แรงงานคน ทำให้งานที่AIหรือปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทนที่ได้มีสัดส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจขั้นสูง แต่ภูมิภาคนี้ก็ยังอยู่ในสถานะที่ใช้ประโยชน์จากของAIในการเพิ่มผลิตภาพได้น้อย เนื่องจากมีงานเพียง10%เท่านั้น ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจขั้นสูงใช้AIสนับสนุน30%"

“รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก ที่มีการพึ่งพาตลาดโลกและการผลิตที่ใช้แรงงานเป็นหลักนั้น กำลังเผชิญกับความท้าทายจากความตึงเครียดด้านการค้าและเทคโนโลยีใหม่ ๆ”

โดยทางแก้ไขเพื่อปรับเปลี่ยนความท้าทายของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก กล่าวว่า การตอบสนองที่ดีที่สุด คือ การกระชับข้อตกลงทางการค้า และเพิ่มทักษะและความสามารถในการเคลื่อนย้ายของแรงงาน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ 

จีดีพีไทยรั้งท้ายอาเซียน“เวิล์ดแบงก์ ”ชี้โต2.4%แม้มี“วอลเล็ต”ปัจจัยบวก