รัฐปล่อยให้น้ำท่วมซ้ำซาก ต้องจัดงบช่วยเหลือซ้ำซ้อน

รัฐปล่อยให้น้ำท่วมซ้ำซาก ต้องจัดงบช่วยเหลือซ้ำซ้อน

จากสถานการณ์เอลนีโญ่ในปี 2566 เปลี่ยนมาเป็นสถานการณ์ลานีญ่าในปี 2567 ซึ่งทำให้มีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย และทำให้เห็นสถานการณ์น้ำท่วมกระจายในหลายพื้นที่ในช่วงวันที่ 17 ก.ค.-10 ต.ค.2567 ทั่วประเทศมีพื้นที่ประสบภัยรวม 52 จังหวัด

โดยมีจังหวัดกลับสู่ภาวะปกติแล้ว 28 จังหวัด แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ฤดูน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่น้ำกำลังไหลเข้าพื้นที่ ดังนั้นความเสียหายจะเพิ่มมากกว่าข้อมูลปัจจุบันอย่างแน่นอน

แต่ละปีรัฐบาลต้องจัดงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการน้ำทั้งกรณีน้ำท่วมและกรณีน้ำแล้งปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2567 จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูฝนปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2567/2568 รวม 19,624 รายการ วงเงินรวม 119,851 ล้านบาท ดำเนินการโดย 9 กระทรวง ครอบคลุม 30 หน่วยงาน ซึ่งยังไม่รวมงบประมาณสำหรับการเยียวยาผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำแล้ง

การบริหารจัดการน้ำจำเป็นต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบ โดยในประเทศไทยมีพื้นที่ชลประทานที่สมบูรณ์ครอบคลุมเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาจึงทำให้พื้นที่ส่วนนี้สามารถเพาะปลูกได้เต็มที่ ซึ่งทำให้ปลูกได้ทั้งข้าวนาปรังและข้าวนาปี ในขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีแผนที่จะลงทุนการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท โดยถือเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งการรับมือน้ำท่วมแล้วน้ำแล้ง

สถานการณ์น้ำท่วมทั้งในเขตเมืองและพื้นที่การเกษตรกระจายไป 52 จังหวัด สะท้อนได้ว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการรับมือปริมาณน้ำฝนที่ตกมากกว่าค่าเฉลี่ย โดยก่อนหน้านี้ 2-3 ปี ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมากเพราะปัญหาเอลนีโญ่ แต่ปีนี้ปริมาณน้ำฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยจึงเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน รวมทั้งในอนาคตเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นจำเป็นต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เป็นอย่างไร

หากรัฐบาลยังคงปล่อยให้มีการลงทุนบริหารจัดการน้ำแบบงานรูทีน โดยหน่วยงานรัฐ 9 กระทรวง ขอจัดสรรงบประมาณในลักษณะต่างคนต่างขอจะทำให้ความสามารถในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยไม่ดีขึ้น และท้ายที่สุดรัฐบาลจะต้องจัดการงบประมาณทุกปีเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่เกิดการลงทุนที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ และจะทำให้ใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อปีใดที่ปริมาณน้ำฝนมีมากกว่าค่าเฉลี่ยก็จะเกิดปัญหาเหมือนปี 2567