5 เงื่อนไขแก้สัญญา 'ไฮสปีดเทรน' ยึดหลัก CP ไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร

5 เงื่อนไขแก้สัญญา 'ไฮสปีดเทรน' ยึดหลัก CP ไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ได้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2562 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทเอเชียเอรา วันจำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

หลังการลงนามได้ไม่นานได้เข้าสู่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกและพบการติดเชื้อในประเทศไทยเดือน ก.พ.2563 และนำมาสู่การล็อคดาวน์ประเทศในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เอกชนคู่สัญญาเสนอให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลต่อจำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 หรือเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมารับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีการเสนอให้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อ

สำหรับการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการดังกล่าวดำเนินการร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัทเอเชียเอรา วันจำกัด ใช้เวลาเกือบ 3 ปี จึงจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอ กพอ.และ ครม.

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2567 โดยการประชุมครั้งนี้ได้สรุปแนวทางการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่คู่สัญญาร่วมลงทุนอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

การประชุม กพอ.เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2567 เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยจะเสนอการแก้ไขสัญญาต่อ ครม. เพื่อพิจารณาใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย

5 เงื่อนไขแก้สัญญา \'ไฮสปีดเทรน\' ยึดหลัก CP ไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร

1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม เมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท ปรับเป็นจ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท.ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้เอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงได้ภายใน 5 ปี โดยกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน

2.กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท.ต้องรับภาระ

3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป

4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท.สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้

5.การป้องกันปัญหาในอนาคต ที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น

การประชุม กพอ.ครั้งล่าสุดดังกล่าวได้มีมติให้ สกพอ.ดำเนินการนำเสนอหลักการแก้ไขปัญหาโครงการใน 5 ประเด็นดังกล่าวต่อ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบการทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561 

รวมทั้งให้คู่สัญญาร่วมกันเจรจาร่างสัญญาแก้ไข และเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ พิจารณา และนำส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนนำเสนอ กพอ.และ ครม.เพื่อให้ ครม.เห็นชอบการแก้ไขสัญญาอีกครั้ง ก่อนคู่สัญญาจะลงนามในสัญญาฉบับแก้ไขต่อไป