ดอกเบี้ยโลก ‘ขาลง’ ไทยฝืนได้แค่ไหน?
สำหรับนักธุรกิจไทยแล้วเรียกได้ว่า “ลุ้น” ทุกครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” ว่าจะมีการ “ลดดอกเบี้ย” ลงเมื่อไหร่
เพราะเศรษฐกิจไทยโตช้ารั้งท้ายประเทศอื่นในอาเซียน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อที่ซึมลึกมานานมากแล้ว ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาใหญ่คอยกวนใจแบงก์ชาติ และทำให้ กนง. ไม่กล้าที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา เพราะเกรงว่าจะยิ่งไปเร่งการเติบโตของหนี้ครัวเรือน
ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่า การที่ กนง. ของแบงก์ชาติไม่ยอมหั่นดอกเบี้ยลงมา ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวเปราะบาง ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย หรือการลงทุนต่างๆ พลอยเงียบเหงาไปด้วยหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเริ่มโตชะลอลงมาอยู่ที่ 89.6% ในไตรมาส 2 ปี 2567 เทียบกับก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 90.7% มองผิวเผินน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์กลับมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะชัดเจนว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยที่ลดลงไม่ได้เกิดจากความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ หรือลดลงเพราะคนมีรายได้เพิ่ม แต่เป็นการลดลงจากการที่แบงก์พาณิชย์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อนั่นเอง เพราะแบงก์พาณิชย์กังวลว่าปล่อยไปแล้วอาจไม่ได้เงินต้นคืน
มีข้อกังวลตามมาอีกว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ลดลงซึ่งน้ำหนักส่วนใหญ่เกิดจากการที่แบงก์พาณิชย์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ ประเด็นนี้กำลังบีบให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็น่าเป็นห่วงมาก เพราะต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นหลายเท่าตัว และจะยิ่งทำให้ปัญหาการเงินของภาคครัวเรือนตึงตัวหนักขึ้น น่ากังวลมากขึ้น ...กลับมาที่การประชุม กนง. ในวันนี้(16ต.ค.) นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับ 2.5% ต่อเนื่อง แต่อาจส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมนัดถัดไป คือในวันที่ 18 ธ.ค.2567 เพราะเวลานี้เริ่มเห็นหลายประเทศทยอยลดดอกเบี้ยลงมาบ้างแล้ว
คำถาม คือ ถ้ารอไปลดในการประชุมปลายปีเลย เศรษฐกิจไทยทนไหวแค่ไหน คำถามนี้ถ้าถามประชาชนกลุ่มเปราะบางอาจยังพอไหว เพราะได้เม็ดเงินจากภาครัฐฉีดเข้ามาช่วยเหลือบ้างแล้ว แต่ถ้าถามภาคธุรกิจก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ซึ่งเท่าที่ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจสอบถามกับเหล่านักธุรกิจหลายๆ ท่าน ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากเห็นแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยโดยเร็วที่สุด
ลองมองออกไปนอกประเทศกันบ้าง จะเห็นว่าหลายๆ ประเทศเริ่มลดดอกเบี้ยไปบ้างแล้ว ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน เกาหลีใต้ เพิ่งปรับลดดอกเบี้ยลงมา 0.25% มาอยู่ในระดับ 3.25% เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี มองไปข้างหน้าดูเหมือนจะยังมีอีกหลายประเทศเตรียมลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติม โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปัจจัยทั้งหมดนี้กำลังกดดันให้เงินบาทไทยมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทยที่ต้องอาศัย “การส่งออก” และ “การท่องเที่ยว” เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ จึงน่าสงสัยว่าท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลง ไทยเราจะทนได้อีกนานแค่ไหน!