'คมนาคม' เร่งพัฒนา 'สนามบินอุดรธานี' ดันประตูสู่ MICE CITY อีสานตอนบน
“มนพร” สั่งกรมท่าอากาศยานเร่งพัฒนาสนามบินอุดรธานีรับท่องเที่ยวปลายปี ผลักดันเป็นประตูสู่ MICE CITY อีสานตอนบน ดันเครื่องสร้างเทอร์มินัล 3-ปรับปรุงอาคาร 1 และ 2 คาดแล้วเสร็จปี 2571 รองรับเพิ่มเป็น 7.2 ล้านคนต่อปี
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานอุดรธานี วันนี้ (17 ต.ค.) โดยระบุว่า จังหวัดอุดรธานีถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติใช้บริการท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงปลายปีนี้ จึงได้สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว กำชับให้อำนวยความสะดวก และลดความแออัดในการใช้บริการ
นอกจากนี้ มอบหมายให้จัดเตรียมพื้นที่และจัดระเบียบบริการขนส่งสาธารณะภายในท่าอากาศยานให้มีความคล่องตัว กำหนดจุดจอดรับ – ส่ง และเวลาในการจอดให้ชัดเจน โดยประสานงานกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดเตรียมรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอกับผู้โดยสาร โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะไปยังสถานที่ภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง
นางมนพร กล่าวต่อว่า เพื่อกระตุ้นให้เกิดรายได้ทางการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ได้สั่งการให้ ทย. หารือร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำแผนกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยใช้พื้นที่ท่าอากาศยานอุดรธานีจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้ท่าอากาศยานมีสีสัน และแสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัด พร้อมมอบนโยบายให้ท่าอากาศยานอุดรธานีเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจด้านการจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE CITY)
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากจังหวัดอุดรธานี ได้ผ่านการประเมินสถานที่จัดงานในประเทศไทยตามมาตรฐาน Thailand MICE Venue Standard จากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ โดยได้รับการประกาศให้เป็นเมืองศูนย์กลาง MICE CITY ลำดับที่ 8 จากทั้งหมด 10 เมือง ของประเทศไทย และกำลังเติบโตเป็นศูนย์กลาง MICE CITY ที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เนื่องจากมีสถานที่จัดงานที่ทันสมัย โรงแรมมีมาตรฐาน รวมถึงการคมนาคมที่สะดวกสบาย
ด้านนายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทย. มีแผนพัฒนาขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานอุดรธานี ประกอบด้วย การสร้างทางเดินเชื่อมภายในและปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารในปี 2569, การก่อสร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่ระบบขนส่งสาธารณะอย่างไร้รอยต่อ, การก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมด้วยการปรับปรุงอาคารที่พักหลังที่ 1 และ 2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์และอาคารสำนักงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571 ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นเป็น 7.2 ล้านคนต่อปี
สำหรับท่าอากาศยานอุดรธานี มีอาคารที่พักผู้โดยสารขนาด 19,200 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,200 คนต่อชั่วโมง หรือ 3.456 ล้านคนต่อปี ความยาวทางวิ่ง ขนาด 45 x 3,050 เมตร รองรับอากาศยาน A330/B77 ได้ 11 ลำ ในเวลาเดียวกัน และที่จอดรถรองรับได้ 655 คัน
ซึ่งแผนในการพัฒนาท่าอากาศยานดังกล่าวนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ เสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมถึงช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นอุตสาหกรรม MICE CITY ของจังหวัดอุดรธานีให้ก้าวสู่ศูนย์กลางของอาเซียน