ย้อนรอยพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 8 รัฐบาลกับ 2 ทศวรรษเศษของความ ‘สูญเปล่า’

ย้อนรอยพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 8 รัฐบาลกับ 2 ทศวรรษเศษของความ ‘สูญเปล่า’

ย้อนรอยมหากาพย์การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 23 ปีแห่งความสูญเปล่าภายใต้ 8 รัฐบาล

“พื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา” กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหลังจากช่วงสองถึงสามเดือนที่ผ่านมาทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นมากล่าวถึงประเด็นนี้อีกครั้งบนเวที Dinner Talk Vision For Thailand ซึ่งจัดขึ้นโดยเครือเนชั่นเมื่อช่วงกลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

จากนั้นไม่นาน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 44 ที่สปป.ลาว ว่าจะเร่งการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวเนื่องจากจะเป็นประโยชน์ให้ประเทศไทยสามารถนำ “ก๊าซธรรมชาติ” บริเวณนั้นไปใช้ได้โดยคาดว่ามีมูลค่าถึง 10 ล้านล้านบาทจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่อาจสูงถึง 300 ล้านบาร์เรล

ทว่าแท้จริงแล้วประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชานั้นได้รับการพูดถึงมาเป็นระยะเวลาสองทศวรรษกว่าภายใต้แปดรัฐบาล

ย้อนรอยพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 8 รัฐบาลกับ 2 ทศวรรษเศษของความ ‘สูญเปล่า’

ทักษิณ ชินวัตร (2001 – 2006)

เริ่มต้นที่ช่วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณในปี 2001 – 2006 เขาเป็นคนคิดนโยบายนี้เป็นครั้งแรกๆ และมองเห็นว่ามันมีพื้นที่ทับซ้อนของไทยและกัมพูชาอยู่ซึ่งมีการประเมินว่ามีก๊าซธรรมชาติบริเวณนั้นที่จะสามารถใช้ประโยชน์ได้

เพื่อเร่งให้เกิดการเจรจาขึ้นทักษิณซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลกัมพูชาจึงให้สุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นลงนามในบันทึกความเข้าใจ ‘บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน’ หรือ ‘MOU 44’

โดยจุดประสงค์ของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมี 2 จุดประสงค์หลักคือ

1) เพื่อจัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน

2) การเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตแดนบริเวณดังกล่าว

เพื่อตอบสนองจุดประสงค์ทั้งสองข้อทั้งสองประเทศต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวภายใต้ชื่อคณะกรรมการ JTC

แต่สุดท้ายก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองโดย “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” หรือ คมช. รัฐประหารรัฐบาลทักษิณจนประเด็นนี้ตกไป

สุรยุทธ์ จุลานนท์ภายใต้ปีกทหาร (2006 -2008)

ในช่วงการดำรงตำแหน่งของสุรยุทธ์ จุลานนท์ภายใต้การควบคุมของคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ถึงอย่างนั้นคณะรัฐมนตรีก็ให้นักการทูตมือดีไปเจรจาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณดังกล่าว แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแบ่งสัดส่วนไม่ได้จนรัฐบาลของสุรยุทธ์หมดวาระไป

สมัคร สุนทรเวช (29 ม.ค. 2008 – 9 ก.ย. 2008)

ต่อมาในยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นเครือข่ายของตระกูลชินวัตร ในช่วงนี้มีประเด็นข้อพิพาทเขาพระวิหารจนทำให้มี "วาทกรรมเสียดินแดน" ขึ้น ดังนั้นฝ่ายอนุรักษนิยมในช่วงนั้นจึงเชื่อมโยงประเด็นเขาพระวิหารกับพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา ท้ายที่สุดด้วยความตึงเครียดทางการเมืองรัฐบาลสมัครจึงไม่สามารถขับเคลื่อนประเด็นนี้ได้

อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ (2008 - 2011)

นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วงการดำรงตำแหน่งของอภิสิทธิ์ เป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ไทยกัมพูชาย่ำแย่ เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมประเทศไทยขณะนั้นมองกัมพูชาในแง่ลบเนื่องจากมีความสัมพันธ์อันดีกับทักษิณและเครือข่ายตระกูลชินวัตร

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของอภิสิทธิ์ก็มีความพยายามจะเจรจากับกัมพูชาโดยแต่งตั้ง สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็น เป็นประธาน JTC แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวเพราะไม่สามารถติดต่อกับชนชั้นนำของกัมพูชาได้

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  (2011 -2014)

รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ เป็นรัฐบาลที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเจรจากับกัมพูชาเพราะเป็นสายตรงจากทักษิณ และในขณะนั้นฮุน เซนก็ส่งสัญญาณเชิงบวกว่าต้องการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกัน

แต่การเมืองภายในขณะนั้นกลับเป็นอุปสรรคในการเจรจาจนนำไปสู่การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งนำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2014 - 2023)

ช่วงการดำรงตำแหน่งของประยุทธ์ นักวิชาการจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นช่วงเวลาที่สูญเปล่ามากที่สุดสำหรับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน เพราะคณะรัฐมนตรีเริ่มหยิบประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลประยุทธ์คือในปี 2021 แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าจนรัฐบาลหมดวาระลง

เศรษฐา ทวีสิน (2023 - 2024)

มาถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกนับหลังรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ เศรษฐาเขียนเอาไว้ในนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐบาลว่าจะเดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนแต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ทับซ้อนของประเทศใด แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดความคืบหน้าเพราะศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งจะมีมติเสียงข้างมากให้เศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะขาดคุณสมบัติ

แพทองธาร ชินวัตร (2024 - ปัจจุบัน)

มาถึงรัฐบาลปัจจุบันของแพทองธาร ชินวัตร เริ่มเห็นสัญญาณอย่างชัดเจนว่าการจะสานต่อนโยบายของทักษิณที่เปิดเอาไว้เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว โดยเธอเขียนไว้ในนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาฯ อย่างชัดเจนว่าจะเร่งเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชาและเป็นหนึ่งใน 10 นโยบายเร่งด่วนด้วยเช่นกัน

ย้อนรอยพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 8 รัฐบาลกับ 2 ทศวรรษเศษของความ ‘สูญเปล่า’

'ก๊าซธรรมชาติ' ไทยร่อยหรอ เร่งฟื้นเจรจา

หลายคนคงตั้งคำถามว่า แล้วทำไมทั้งรัฐบาลของเศรษฐาและแพทองธารจึงให้ความสำคัญกับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาอย่างมาก คำตอบก็คือ

นโยบายเรือธงของทั้งสองคือ "การลดค่าพลังงานและค่าไฟ" ของประชาชนลง เพราะปัจจุบันสาเหตุที่ทำให้ค่าพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าไฟของประเทศไทยแพงเพราะก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องจนต้องนำเข้าพลังงานเข้ามาจากต่างประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจาก ปตท. เปิดเผยว่า ณ ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเองได้ 64% และนำเข้ามาจากต่างประเทศ 36% โดยแบ่งเป็นจากแหล่งก๊าซธรรมชาติของเมียนมา 16% และ LNG 20%

ที่สำคัญนอกจากปริมาณไฟฟ้าสำรองของบ้านเราที่ล้นเกินความจำเป็นซึ่งภาระก็ไปปรากฎอยู่ที่อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ของประชาชนแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ถือว่าทำให้ค่าไฟของประเทศไทยนั้นสูงขึ้นคือสัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ที่อยู่ในระดับสูงซึ่งราคาของก๊าซธรรมชาติตัวนี้ผันผวนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากสงครามและดีมานด์ก๊าซธรรมชาติเหลวที่เพิ่มสูงขึ้นจนไปบวกเป็นค่าไฟแล้วแพงขึ้น 

ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยสามารถเจรจาแบ่งพื้นที่ทับซ้อนตรงนั้นได้ก็จะทำให้ไทยมีก๊าซธรรมชาติที่ผลิตขึ้นในประเทศมากขึ้นกว่าเดิมจนช่วยลดสัดส่วนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากแหล่งอื่นออกไปได้ ตรงนี้ก็จะทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมราคาค่าไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นักวิชาการค้านเจรจาแบ่งดินแดน

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจว่า ประเด็นเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาได้รับการพูดถึงเป็นระยะเวลา 20 กว่าปี แต่ปัจจัยสำคัญที่ยังทำให้การเจรจาไม่บรรลุผลเนื่องจากมีประเด็นเรื่องการแบ่งเขตแดนเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งทำให้ยากต่อการเจรจา

ดังนั้นนักวิชาการท่านนี้จึงเสนอว่า เพื่อทำให้การเจรจาบรรลุผลควรปรับเปลี่ยนการเจรจาเพื่อการพัฒนานำใช้ก๊าซธรรมชาติบริเวณนั้นเพียงอย่างเดียวเหมือนกับโมเดลของพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย เพราะหากกล่าวถึงประเด็นพื้นที่ทับซ้อนก็ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนสนใจเจรจาเนื่องจากอาจสร้างความแตกแยกในสังคมภายใต้วาทกรรม “เสียดินแดน”

เพื่อที่จะดำเนินการตามข้อเสนอข้างต้นได้ รัฐบาลจำเป็นต้องยกเลิก MOU44 ที่จัดทำขึ้นในยุคของรัฐบาลทักษิณภายใต้การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของนายสุรเกียรติ์เมื่อครั้ง 2001

ทั้งนี้ ดร.ปณิธาน ตั้งข้อสังเกตถึงแนวนโยบายของทั้งนายเศรษฐาและแพทองธารว่าแสดงถึงความต้องเจรจาเพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานบริเวณดังกล่าวมากเกินกว่าความต้องการของกัมพูชาดังนั้นในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้กัมพูชามีแต้มต่อมากกว่า