สะเทือนแน่! หากไทยถูกลดเรตติ้ง
รู้ไหมว่า “ไทย” เป็นประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าจากวิกฤติโควิดเป็นอันดับที่ 162 จาก 189 ประเทศทั่วโลก แล้วรู้ไหมว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ขยายตัวได้เพียง 1.9% เป็นระดับการเติบโตที่ “ต่ำสุด”
ในบรรดาประเทศซึ่งมีอันดับเครดิตเรตติ้งเท่ากัน คือ BBB+ แย่ไปกว่านั้น ไทย ยังเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ฐานะการคลังส่อย่ำแย่หนักขึ้น หนี้สาธารณะมีแนวโน้มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งเท่ากัน ไทยจึงมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่อาจถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ(เครดิตเรตติ้ง) เช่น Fitch ปรับลดอันดับลง
ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นนำมาจาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจ(EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งได้เสนอบทวิเคราะห์เรื่อง “ไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้งจาก BBB+ หรือไม่” ถือเป็นบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจนำเสนอมุมมองในแง่ต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบที่เราจะได้รับหากถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจริง รวมทั้งยังได้เสนอแนวทางลดความเสี่ยงที่นำไปสู่การถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือไว้ด้วย
ผลกระทบในกรณีที่เราถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งลง อย่างแรกเลยต้นทุนการเงินของภาครัฐจะสูงขึ้นทันที การขาดดุลการคลังที่หนักอยู่แล้วมีโอกาสที่จะหนักมากยิ่งขึ้นเพราะต้องไปจ่ายดอกเบี้ยจากการระดมทุนที่แพงขึ้น เงินลงทุนไหลออกนอกประเทศมากขึ้น ขณะที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติก็คงเข้ามาน้อยลง กระทบต่อเสถียรภาพของเงินบาทและเงินเฟ้อ ภาคเอกชนก็คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งลงตามด้วย
แล้วอะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้ Fitch มีโอกาสปรับลดเครดิตเรตติ้งของเราลงมา? ...ประเด็นสำคัญก็มี 3 เรื่องใหญ่ อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นบ้างแล้ว คือ 1.ปัญหาหนี้ภาครัฐ ซึ่งวินัยการคลังเราไม่ได้เข้มแข็งเหมือนอดีต หนี้สาธารณะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนต้องขยับเพดานหนี้ขึ้นมา 2.เสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล ซึ่งแม้จะไม่มีความวุ่นวายให้เห็น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมาทั้งอุบัติเหตุการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี การยุบพรรคก้าวไกล ประเด็นเหล่านี้ Fitch ใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการประเมินเครดิตเรตติ้งด้วย และ 3.เศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำกว่าศักยภาพ และที่สำคัญศักยภาพเศรษฐกิจไทยถดถอยลงมาเรื่อยๆ
ส่วนการลดความเสี่ยงที่จะถูกปรับเครดิตเรตติ้งนั้น EIC เสนอไว้ 4 ด้าน คือ 1.จัดทำแผนปฏิรูปการคลัง ผ่านการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้คุ้มค่าและการลดรายจ่ายไม่จำเป็นลง 2.มีกลไกติดตามวินัยการคลังโดยเฉพาะบทบาทภาคประชาสังคม 3.ปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดโลกได้ 4.เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพของเศรษฐกิจระยะยาวมากขึ้น ...เราเห็นว่าเรื่องทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างมาก ไม่มีใครอยากให้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลดลง เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่หนักขึ้น อย่าลืมว่าเราเคยมีเรตติ้งที่สูงในระดับ A มาแล้วเมื่อราวๆ 30 ปีก่อน วันที่เราเกือบจะได้ขึ้นเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย!