“เลือกตั้งสหรัฐ”ทำโลกเสี่ยงห่วงขั้วใหม่กดดอกเบี้ย“บาทแข็ง-ส่งออกดิ่ง”
โอกาสเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ“ความเสี่ยง” ดังนั้นการมองหาโอกาสโดยไม่ละเลยที่จะประเมินความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญในทุกก้าวย่างของการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ล่าสุด สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) เผยแพร่ รายงาน Chief Risk Officer Outlook จากการสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับบริหารถึงประเด็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกโดยเน้นย้ำถึงความเสี่ยงระดับโลกและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในวงกว้างในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
สาระสำคัญ ระบุถึง ภาพรวมของแนวโน้มทั่วโลกที่ดูเหมือนจะเป็นไปในแง่ดีมากกว่าช่วงเดียวกับนี้ของปี 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าความผันผวนอย่างต่อเนื่องยังคงว่าด้วยเรื่อง
1. ความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจระหว่างเศรษฐกิจหลัก สัดส่วน96%
และ 2. การพัฒนาทางการเมืองภายในเศรษฐกิจหลัก 71%
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณว่า Chief Risk Officer มองในแง่ดีมากขึ้นในด้านอื่นๆ เช่น ความเสี่ยงขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมีความรุนแรงลดลงตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมาในขณะที่เจ้าหน้าที่บริหารความเสี่ยงระดับสูง 38% ถือว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเป็นปัญหาที่น่ากังวลอย่างกว้างขวางในปีก่อน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่บริหารความเสี่ยงระดับสูงส่วนใหญ่ ถึง 84% คาดว่าจะมีความผันผวนสูงในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือตลอดช่วงที่เหลือของปี2567 นอกจากนี้ 40% คาดว่าจะมีความผันผวนสูงในยุโรป ขณะที่อีก 40% คาดว่าจะมีความผันผวนสูงในสหรัฐ
สำหรับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อธุรกิจได้แก่ เศรษฐกิจมหภาค สัดส่วน 76% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต่อมาก็คือความเสี่ยงทางไซเบอร์ สัดส่วน71% และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ สัดส่วน 67%
“ มีการมองโลกในแง่ดีมากขึ้นจากหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความเสี่ยง อย่างความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมหภาคยังคงเป็นปัญหาในระยะสั้น ขณะที่ การเปลี่ยนแปลงที่ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปีที่แล้ว คือการเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทางการเมือง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่น่ากังวลสำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้และมีสัดส่วนความกังวลเพิ่มขึ้นถึง7%”
โดย43% ชี้ว่าผลกระทบที่ไม่แน่นอนของการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พ.ย.นี้ มีส่วนทำให้เกิดความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งอาจนำไปสู่การระมัดระวังของนักลงทุนและผู้บริโภค ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงขึ้น
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย
โดยนโยบายของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในประเด็นด้านการค้า การลงทุน และนโยบายที่อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ
ในกรณีที่แฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง คาดว่าจะมีการสนับสนุนการค้าเสรีมากขึ้น โดยอาจมีการผลักดันให้สหรัฐ กลับเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยพิจารณาเข้าร่วมเพื่อขยายการค้ากับประเทศสมาชิก นอกจากนี้ อาจมีการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับพันธมิตรในเอเชีย ซึ่งไทยอาจได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในอุตสาหกรรม 4.0
อย่างไรก็ตามแม้จะมีแนวโน้มใช้มาตรการที่นุ่มนวลกว่าทรัมป์ในเรื่องมาตรการทางภาษีกับจีน แต่ก็ยังอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีน ทำให้ไทยอาจต้องปรับตัวโดยการกระจายความเสี่ยงและหาพันธมิตรทางการค้าใหม่
หากทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่ง อาจมีการเพิ่มภาษีนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60% หรือมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นโอกาสให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยเพิ่มขึ้น และความต้องการสินค้าทดแทนจากไทยในตลาดสหรัฐ อาจเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ สหรัฐอาจเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมปรับปรุงมาตรฐานการผลิตให้สอดคล้อง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐ
“ในกรณีที่แฮร์ริสได้รับชัยชนะ อาจส่งผลดีต่อการลงทุนในประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรมเกิดโอกาสในการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและสหรัฐ หากทรัมป์ได้รับชัยชนะ นโยบาย “America First” อาจส่งผลให้การลงทุนจากสหรัฐในประเทศไทยลดลง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต”
การใช้มาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อดึงการลงทุนกลับสู่สหรัฐ อาจทำให้บริษัทสหรัฐ ที่มีฐานการผลิตในไทยพิจารณาย้ายกลับประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย นอกจากนี้ อาจเกิดการชะลอตัวของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหรัฐ สู่ไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ในระยะยาว
นโยบายของแฮร์ริสที่มุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวชนชั้นแรงงานและการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยในทางที่เป็นประโยชน์ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการสังคมในสหรัฐ แม้จะอาจเพิ่มต้นทุนการผลิต แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อในไทย ในขณะเดียวกัน มาตรการควบคุมราคายา ค่ารักษาพยาบาล และพลังงานในสหรัฐ อาจช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมเงินเฟ้อในไทย
“นโยบายที่มุ่งเน้นการควบคุมเงินเฟ้อในสหรัฐ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาทและอัตราเงินเฟ้อในไทย”
ในทางตรงกันข้าม นโยบายของทรัมป์ที่เน้นการลดอัตราดอกเบี้ยและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยในหลายมิติ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจทำให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลก นำไปสู่แรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในประเทศคู่ค้าอย่างไทย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำอาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย และอาจนำไปสู่การปรับตัวของราคาสินค้าภายในประเทศ ซึ่งมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยตรง
ในส่วน นโยบายการคลังแบบขยายตัว เช่น การลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ อาจก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทยในระยะยาว
พูนพงษ์ กล่าวอีกว่า ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐและนโยบายที่อาจตามมา ประเทศไทยควรดำเนินการในหลายด้าน เริ่มจากภาคธุรกิจที่ควรกระจายความเสี่ยงโดยขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐ พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และควรติดตามนโยบายการค้าและเศรษฐกิจของสหรัฐ อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับตัวได้ทันท่วงที
ในระดับประเทศ ไทยควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง รวมถึงพัฒนานโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง