บอร์ดรถไฟอนุมัติ 'ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง' ลุยทางคู่ขอนแก่น- หนองคาย พ.ย.นี้
บอร์ดรถไฟ อนุมัติผลประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย วงเงิน 2.86 หมื่นล้านบาท คาดลงนาม “ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง” ดันตอกเสาเข็มทันที พ.ย.นี้
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟฯ ครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาการประกวดราคา โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย โดยให้มีการจ้าง กิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด เป็นผู้ดำเนินการ ด้วยมูลค่าโครงการ 28,679,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคากลางกำหนดไว้
สำหรับผลการพิจารณาดังกล่าวเป็นไปตามที่ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ได้นำผลการพิจารณาการประกวดราคาจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้อง ตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา มารายงานต่อคณะกรรมการรถไฟฯ โดยมี กิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วย 1.บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด 2.บริษัท เอ. เอส. แอสโซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด 3.บริษัท ทิพากร จำกัด และ 4.บริษัท เค เอส ร่วมค้า จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ด้วยจำนวนเงิน 28,679,000,000 บาท
ส่วนขั้นตอนต่อไป การรถไฟฯ จะดำเนินการตรวจเอกสาร เมื่อครบถ้วนแล้วจะทำการลงนามในสัญญาจ้างร่วมกับกิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง เพื่อดำเนินการก่อสร้างในโครงการทันที ทั้งนี้ คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือน พ.ย. 2567
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย การรถไฟฯ ออกประกาศเชิญชวน และจำหน่ายเอกสารประกวดราคาจ้างในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้ายื่นเอกสารจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย
1. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
4. กิจการร่วมค้า ช.ทวี – เอเอสก่อสร้าง
นายวีริศ กล่าวด้วยว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อการเดินทางจากช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ผ่านจังหวัดอุดรธานี และสิ้นสุดที่สถานีหนองคาย อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในแผนงานที่ 1 การพัฒนาโครงข่ายระหว่างเมือง (การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่) ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566
ขณะที่รูปแบบโครงการเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม และมีการก่อสร้างปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วน รวมระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร ประกอบด้วย อาคารสถานี 14 สถานี ที่หยุดรถ 4 แห่ง ลานบรรทุกสินค้า 3 แห่ง พร้อมทั้งงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดทั้งสายทาง คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2570
“เส้นทางนี้จะช่วยเติมเต็มระบบรถไฟทางคู่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง ทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร การประหยัดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสติกส์ ลดระยะเวลาการเดินทาง พลังงานเชื้อเพลิง และปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์ ถือเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง”