สถิติ 9 เดือน 'ยานยนต์ไฟฟ้า' ป้ายแดง จับตาโค้งสุดท้ายปีนี้ ส่อชะลอตัว

สถิติ 9 เดือน 'ยานยนต์ไฟฟ้า' ป้ายแดง จับตาโค้งสุดท้ายปีนี้ ส่อชะลอตัว

เปิดสถิติ 9 เดือน “ยานยนต์ไฟฟ้า” จดทะเบียนป้ายแดงรวม 52,443 คัน “ไฮบริด” ได้รับความนิยมสูงสุด ขณะที่ ส.อ.ท. จับสัญญาณปัจจัยลบโค้งสุดท้ายปีนี้ หวั่นเศรษฐกิจชะลอตัวฉุดตลาดยานยนต์ไฟฟ้า หลังสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ – ผู้บริโภครอราคาปีหน้าปรับลด

KEY

POINTS

  • เปิดสถิติ 9 เดือน "ยานยนต์ไฟฟ้า" จดทะเบียนป้ายแดงรวม 52,443 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 4.89% "ไฮบริด" ได้รับความนิยมสูงสุด
  • "กรมการขนส่งทางบก" เปิดมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยยังคงมาตรการลดภาษีประจำปี สำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เป็นรถใหม่สำเร็จรูปจากโรงงาน และนำมาจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 พ.ย.2568
  • ส.อ.ท. ชี้สถิติจดทะเบียนรถป้ายแดง 2 เดือนล่าสุดลดลงต่อเนื่อง จับสัญญาณปัจจัยลบโค้งสุดท้ายปีนี้ หวั่นเศรษฐกิจชะลอตัวฉุดตลาดยานยนต์ไฟฟ้า หลังสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ 50 - 60% ขณะที่ผู้บริโภครอราคาปีหน้าปรับลด

ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ โดยที่ผ่านมาได้มีการออกมาตรการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อในหลายภาคส่วน ตั้งแต่สนับสนุนด้านภาษีให้กับผู้ประกอบการ รวมไปถึงลดภาษีให้กับประชาชนที่หันมาใช้รถอีวี

โดยเป้าหมายสำคัญนอกจากกระตุ้นเม็ดเงินจากการซื้อยานยนต์ใหม่แล้ว การผลักดันให้ประชาชนมาใช้รถอีวี ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

อย่างไรก็ดี กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยข้อมูลรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ในประเทศ รวบรวมสถิติงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 พบว่ามีจำนวนรถอีวีป้ายแดงรวม 52,443 คัน หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวน 49,997 คัน เพิ่มขึ้น 4.89% โดยในจำนวนนี้พบว่ายานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle, HEV) ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีสถิติจดทะเบียนในไทยรอบ 9 เดือนที่ผ่านมารวมกว่า 104,197 คัน เพิ่มขึ้นจาก 65,423 คันในปีก่อน

สถิติ 9 เดือน \'ยานยนต์ไฟฟ้า\' ป้ายแดง จับตาโค้งสุดท้ายปีนี้ ส่อชะลอตัว

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกมีมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยยังคงมาตรการลดภาษีประจำปี สำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เป็นรถใหม่สำเร็จรูปจากโรงงาน และนำมาจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

สำหรับมาตรการลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เป็นรถใหม่สำเร็จรูปจากโรงงาน และนำมาจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 พ.ย.2568 โดยให้ลดภาษีลงร้อยละ 80 จากอัตราที่กำหนดตาม (11) ของอัตราภาษีประจำปีท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

- รถเก๋งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนัก 1,751 - 2,000 กิโลกรัม ปกติจัดเก็บภาษีประจำปี 1,600 บาท ลดภาษีประจำปีแล้ว คงเหลือ 320 บาท

- รถตู้ส่วนบุคคลที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนัก 1,751 - 2,000 กิโลกรัม ปกติจัดเก็บภาษีประจำปี 800 บาท ลดภาษีประจำปีแล้ว คงเหลือ 160 บาท

- ส่วนรถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ปกติจัดเก็บภาษีประจำปี 50 บาท ลดภาษีประจำปีแล้วคงเหลือ 10 บาท เป็นต้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่รถนั้นจดทะเบียนเป็นระยะเวลา 1 ปี

“สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ โดยระบุว่า จากสถิติรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) พบว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ส.ค. - ก.ย.2567) สถิติการจดทะเบียนลดลงหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยเฉพาะในรอบเดือน ก.ย.2567 พบว่ามีสถิติลดลงสูงถึง 34.35% โดยมีจำนวนจดทะเบียนป้ายแดงอยู่ที่ 4,490 คัน หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนจดทะเบียนป้ายแดงอยู่ที่ 6,839 คัน ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งเกิดจากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ เพราะปัจจุบันหนี้ครัวเรือนยังสูงถึง 90% สถาบันทางการเงินจึงปฏิเสธการให้สินเชื่อรถยนต์ 50 – 60% และยังไม่มีสัญญาณบวกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ยังคงผลิตรถในประเทศได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากเพิ่งเข้ามาตั้งโรงงาน และรถยนต์ประเภทอีวียังมีราคาสูง เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตในประเทศได้มากนัก อีกทั้งประชาชนยังรอดูราคาที่คาดว่าจะปรับลดลงในช่วงปีหน้า ปัจจัยเหล่านี้เป็นผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามียอดขายที่ชะลอตัวลง และคาดว่าสถานการณ์หลังจากนี้น่าจะยังคงเป็นในลักษณะเดียวกัน