เปิด 4 เหตุผลสำคัญ 'ไทย' ต้องเข้าร่วมสมาชิก" BRICS"

เปิด 4 เหตุผลสำคัญ 'ไทย' ต้องเข้าร่วมสมาชิก" BRICS"

กระทรวงการต่างประเทศ เปิด 4 เหตุผลเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ยกระดับไทยบนเวทีต่างประเทศ ขยายความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ มนุษยธรรม ลดความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์และยึดหลักการทูตอย่างสมดุลและยืดหยุ่น

กระทรวงการต่างประเทศ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 โดยสรุปประโยชน์และผลกระทบต่อประเทศไทย 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน

ทั้งยังช่วยเพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกิจระหว่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง

นอกจากนี้การเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ช่วยเพิ่มโอกาสให้เทศไทยร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ที่กลุ่มประเทศตลาดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญ มีความครอบคลุมและไม่มุ่งต่อต้านกลุ่มใด

2.ความร่วมมือกลุ่ม BRICS แบ่งเป็น 3 เสา ได้แก่ เสาด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ เสาด้านเศรษฐกิจและการเงิน เสาด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม

นอกจากจะมีการประชุมระดับผู้นำของ BRICS แล้วแต่ละเสายังมีการประชุมระดับต่างๆ เช่น คณะทำงาน เจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี รวมกันประมาณ 200 การประชุมต่อปี และเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการต่างๆ ในลักษณะคล้ายกรอบอาเซียน

ดังนั้น หากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยมีความพร้อม การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการหารือกับประเทศสมาชิก ประเทศหุ้นส่วนและประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมในกลไกของกลุ่ม BRICS 

เพื่อขยายความร่วมมือด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย ยุติธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม สาธารณสุข การคลัง การค้าและเศรษฐกิจ การจัดการภาษี การคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว การส่งเสริมบทบาทของเยาวชนและสตรี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

3.ในสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปัจจุบัน ซึ่งยังคงมีความขัดแย้งระหว่างประเทศตะวันตกกับรัสเซีย และการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศตะวันตกกับจีนที่มีความเข้มข้นขึ้น 

อาจจะมีความเสี่ยงที่ประเทศสมาชิกขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกและพันธมิตรมีแนวโน้มที่จะต่อต้านนโยบายของรัสเซียและจีน ซึ่งเป็น 2 ประเทศหลักที่ริเริ่มความร่วมมือและมีอิทธิพลในกลุ่ม BRICS

ทั้งนี้ แม้ว่าจุดประสงค์ของ OECD จะเป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพื่อจะพัฒนามาตรฐานและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันก็ตาม

4.กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวบนหลักการของการดำเนินการทูตอย่างสมดุลและยืดหยุ่น ในภาวะที่มีการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์มีความเข้มข้นขึ้น 

และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทั้งในด้านการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการเมืองกับกลุ่มประเทศกลุ่ม BRICS และความมั่งมั่นที่จะพัฒนามาตรฐานด้านต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD