ส่งออกตลาด ‘สหรัฐ’ พุ่ง 18.1% เงินเฟ้อทั่วโลกลดหนุนกำลังซื้อ
ตลาดส่งออกสหรัฐพุ่ง 18.1% ดันส่งออกไทยเดือนก.ย.ขยายตัว 1.1 % โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 หลังเศรษฐกิจการค้าฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดทั้งปีได้ตามเป้า 2% ลุ้นโอกาสโตเกินกว่าเป้า ลุ้นทำสถิตินิวไฮมูลค่าส่งออกแตะ 290,000 ล้านดอลลาร์ สรท.เผยต้นทุนค่าระวางเรือนิ่งเอื้อเป้าส่งออก
การส่งออกสินค้าของไทยในเดือนก.ย.2567 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และอาหารได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตตามวัฏจักร เพราะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และราคาแข่งขันได้ อีกทั้งเศรษฐกิจในตลาดหลัก
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานการค้าระหว่างประเทศเดือนก.ย.2567 พบว่าการส่งออกมีมูลค่า 25,983 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ขยายตัวต่อเนื่องเป็น 3 เดือน หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 3.1% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 25,589 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.9% เกินดุลการค้า 394.2 ล้านดอลลาร์
สำหรับสถิติ 9 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.- ก.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 223,176 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.9% ขณะที่การนำเข้า มูลค่า 229,132 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.5% และขาดดุลการค้า 5,956 ล้านดอลลาร์
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกเดือนก.ย.2567 ขยายตัวส่วนหนึ่งมาจากตลาดส่งออกหลักที่ยังเติบโต โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดอย่างสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มฟื้นตัวจากเงินเฟ้อที่คลี่คลายอุปสงค์ ซึ่งส่งผลให้การบริโภคเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ การส่งออกไปสหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง โดยเดือนก.ย.ปีนี้ มีมูลค่า 5,018 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 18.1% รวมในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 40,611 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12.5% โดยปัจจุบันการส่งออกไปสหรัฐมีสัดส่วนถึง 18.2% ของการส่งออกไทยทั้งหมด ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ในขณะที่การส่งออกไปสหรัฐปี 2566 มีมูลค่า 48,352 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.0%
นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดสหรัฐในเดือนก.ย.ปีนี้ มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง
ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
จับตาเลือกตั้งสหรัฐกระทบส่งออก
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การส่งออกช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 (ต.ค.- ธ.ค.) คาดว่าเติบโตต่อเนื่องแม้เผชิญความท้าทายหลายด้านทั้งการเลือกตั้งในสหรัฐ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การแข็งค่าของเงินบาท ปัญหาอุทกภัยที่กระทบผลผลิตสินค้าเกษตร และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจกระทบการส่งออกข้าวไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2567 จะได้ตามเป้าหมายที่ 2%
นอกจากนี้ การส่งออกในช่วงปลายปีได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในหลายประเทศ ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี
ขณะที่อัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้ามีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออกไทยทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น
ลุ้นส่งออกทั้งปีทำสถิตินิวไฮอีกครั้ง
“หาก 3 เดือนสุดท้าย ส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 22,533 ล้านดอลลาร์ การส่งออกทั้งปีจะทำได้ 2% และมูลค่าทั้งปีจะอยู่ที่ 290,000 ล้านดอลลาร์ ทำสถิตินิวไฮมูลค่าการส่งออกอีกครั้ง หลังจากเคยทำไว้เมื่อปี 2566 มูลค่า 287,000 ล้านดอลลาร์” นายพูนพงษ์ กล่าว
ส่วนเป้าหมายการส่งออกปี 2568 กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการนัดหมายหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินแนวโน้ม และสถานการณ์ต่างๆ ก่อนที่จะประเมินเป้าหมายการทำงานอีกครั้ง และจะแจ้งให้ทราบต่อไป
“การส่งออกในเดือนก.ย.2567 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และอาหารที่ได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติบโตต่อเนื่องตามวัฏจักร ประกอบกับสินค้ามีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ ” นายพูนพงษ์ กล่าว
นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของค่าระวางเรือในเส้นทางการค้าสำคัญยังช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ที่สำคัญ การเกินดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ถือเป็นสัญญาณบวกต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของภาคการส่งออกไทย
สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมโตแรง7.8%
สำหรับการส่งออกเดือนก.ย.ขยายตัว 1.1% มาจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.5% โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 0.2% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.8% โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่แปรรูป และไขมัน และน้ำมันจากพืช และสัตว์
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และผักกระป๋อง และผักแปรรูป หดตัว ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร 5.4%
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 2.0% โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณี และเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และส่วนประกอบ โดย 9 เดือนแรกปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 3.8%
เงินเฟ้อทั่วโลกลดลงหนุนกำลังซื้อ
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังขยายตัวโดยเฉพาะในสหรัฐสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ที่อุปสงค์มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ โดย ตลาดหลัก ขยายตัว 2.6% เช่น ตลาดสหรัฐฯ 18.1% สหภาพยุโรป (27) 4.1% และ CLMV 8.3% ขณะที่หดตัวในตลาดจีน 7.8% ญี่ปุ่น 5.5% อาเซียน (5) 6.7%
ส่วน ตลาดรอง ขยายตัว 1.3% โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 12.0% ตะวันออกกลาง 3.5% แอฟริกา 1.6% ลาตินอเมริกา 15.0% และสหราชอาณาจักร 29.3% ขณะที่หดตัวในตลาดเอเชียใต้ 1.6% และรัสเซีย และกลุ่ม CIS 9.8% ตลาดอื่นๆ ขยายตัว 39.3%
สรท.เผยต้นทุนค่าระวางเรือนิ่งเอื้อเป้าส่งออก
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือนก.ย.ทำได้ดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งในไตรมาส 4 เป็นช่วงรับออร์เดอร์ ทำการผลิต และส่งมอบ
รวมทั้งหากการส่งออกทำได้เฉลี่ยเท่ากับปีที่แล้ว การส่งออกปีนี้จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 2% แน่นอน เพราะปัญหาค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ ขณะนี้ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดสามารถรับมือได้หากไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้น
ขณะที่ปัญหาเงินบาทแข็งค่ากรณีค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.5-33.8 บาทต่อดอลลาร์ ยังบริหารจัดการได้ เพราะเอกชนปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว และถ้าอยู่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ หรือเกิน 34 บาทต่อดอลลาร์ขึ้นไป ยิ่งส่งผลดีต่อการส่งออก และดีต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปี 2568
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองการส่งออกจะทำสถิตินิวไฮ โดยจะนิวไฮทั้งเงินดอลลาร์ และเงินบาท โดยเงินบาทใช้สมมติฐานที่ 33 บาทต่อดอลลาร์จะทำตัวเลขทั้งปีอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท แต่หากเป็นดอลลาร์จะอยู่ที่ 290,000 ล้านดอลลาร์
ส่วนปี 2568 จะต้องหารือกระทรวงพาณิชย์อีกครั้ง เพราะคงต้องพิจารณา 2 เรื่องคือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในต้นเดือนพ.ย.และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะรุนแรงหรือขยายวงมากแค่ไหน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์