'แพทองธาร' สั่งตั้งทีมทำงานร่วม กกร. ขีดเส้นแก้ปัญหาสินค้านำเข้าคุณภาพต่ำ

'แพทองธาร' สั่งตั้งทีมทำงานร่วม กกร. ขีดเส้นแก้ปัญหาสินค้านำเข้าคุณภาพต่ำ

“แพทองธาร” มอบรองนายกฯ – รมว.สานต่อประเด็น กกร.ขีดเส้นแก้ปัญหาสินค้าออนไลน์คุณภาพต่ำทะลักไทยภายใน 1 เดือน พร้อม ตั้งทีมทำงานร่วม กกร.แก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยโตต่ำมา 10 ปี  

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ว่าจากการหารือกับคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบไปด้วยประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีกรอบในการหารือที่สำคัญ 4 ข้อได้แก่

  1. เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ
  2. มาตรการในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี
  3. การบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งเกิดขึ้นอีกในอนาคต
  4. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้เพื่อให้ข้อเสนอของภาคเอกชนได้รับการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรมนายกรัฐมนตรีได้มีการสั่งการไปยังรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.มาตรการในการแก้ปัญหาสินค้าออนไลน์ และสินค้าไม่ได้คุณภาพที่เข้ามาตีตลาดสินค้าไทยจนกระทบกับผู้ประกอบการในประเทศไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่ง ครม.ได้มีการมอบหมายให้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำเนินการหามาตรการมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้ภายใน 1 เดือน

“ปัจจุบันสินค้าออนไลน์ที่สั่งเข้ามาจำนวนมากมาจากต่างประเทศ เมื่อมีการนำเข้ามามากๆก็ทำให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศประสบปัญหาจึงต้อง มีมาตรการในการควบคุม”

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการใน 3 ประเด็นคือ

  •  การขายสินค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนธุรกิจในไทย เพื่อให้มีการควบคุมสินค้าและคุณภาพและเข้าสู่ระบบภาษี  
  • สินค้าที่นำเข้ามาและมาจำหน่ายในประเทศไทยต้องได้รับมาตรฐานสินค้ามาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)  
  • สินค้าอาหารและยาที่มีการนำเข้ามาต้องมีใบรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) ด้วยเพื่อดูแลในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยให้กับคนไทย

2. มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ประสานงาร่วมกับเอกชนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยที่โตต่ำว่าศักยภาพมานานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายที่ต้องแก้ไขหนี้ครัวเรือนของประชาชน ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจะมุ่งไปที่การแก้ไขลดปัญหาหนี้สินของครัวเรือนและเอสเอ็มอี โดยในส่วนของหนี้ครัวเรือนจะครอบคลุมทั้งผู้ที่กู้เงินสำหรับที่อยู่อาศัยหลังแรก หนี้ของรถกระบะและรถปิกอัพที่ทำมาหากิน นอกจากนี้ยังให้เร่งมาตรการแก้หนี้เอสเอ็มอีที่รัฐบาลเตรียมไว้ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว

3.มอบหมายให้นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ดูแลในเรื่องของการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจซึ่งเป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งขั้นตอนที่ล่าช้าในการออกใบอนุมัติอนุญาตทำให้เอกชนได้รับความเสียหายทางธุรกิจจำนวนมากในแต่ละปี

4.เรื่องของการบริหารจัดการน้ำนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้นำเอาแผนงานการบริหารจัดการน้ำที่มีการทำไว้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการทำไว้มาดำเนินให้เป็นรูปธรรม ซึ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง และให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการทำเกษตรกรรมในอนาคต