จับตา“กกพ.”ซื้อไฟฟ้าREหลัง“ก.พลังงาน”ค้านเกณฑ์เฟ้นผู้เคยยื่น198 รายก่อน

จับตา“กกพ.”ซื้อไฟฟ้าREหลัง“ก.พลังงาน”ค้านเกณฑ์เฟ้นผู้เคยยื่น198 รายก่อน

การรับซื้ือพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน หรือ REเพื่อส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)ให้มีสัดส่วนRE ถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้วก็จะมีการจัดเก็บ UGT [Utility Green Tariff] หรืออัตราการเก็บค่าบริการสำหรับไฟฟ้าสีเขียว

ซึ่งไฟฟ้าสีเขียวจะได้มาจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ โดยจะมีใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) ซึ่งผู้ประกอบการจะใช้เป็นเอกสารประกอบเมื่อมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีการกำหนดกำแพงภาษี เป็นการรักษาความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของระเทศนั้น อาจส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อ

 สํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (สํานักงาน กกพ.)  กําหนดกรอบระยะเวลาและกระบวนการเพื่อประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้ประกาศ กกพ. เรื่อง รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สําหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) ตามมติ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 41/2567 (ครั้งที่ 926) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567

         “ภายใต้ประกาศดังกล่าว กกพ. ได้กําหนดเงื่อนไขโดยจะให้สิทธิ์กับกลุ่มผู้ที่เคยยื่นข้อเสนอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงาน หมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สําหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 จํานวน 198 ราย  สําหรับ 2,180 เมกะวัตต์” 

โดยกำหนดกระบวนการที่ 1. การไฟฟ้าออกประกาศกําหนดรายละเอียดการรับซื้อไฟฟ้า8 ต.ค. 2567 จากนั้น กระบวนการที่2. ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ายื่นขอเข้าร่วมการคัดเลือกกระบวนการที่ 3. การไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ยื่นกระบวนการที่4. สํานักงาน กกพ. ประกาศรายชื่อผู้ยื่น กระบวนการที่5. การไฟฟ้าแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม ที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และกระบวนการที่6.ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

       พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รูปแบบ Feed-in Tariff จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์ ที่กกพ. จะมีการเปิดประมูลนั้น เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน จำนวนประมาณ 5,200 เมกะวัตต์ 

โดยในโครงการหลัง 3,600 เมกะวัตต์นี้ กกพ. จะแบ่งการรับซื้อหรือการประมูลออกเป็น 2 โครงการย่อย คือ โครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 2,100 เมกะวัตต์ และโครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 1,500 เมกะวัตต์

สำหรับโครงการรับซื้อ 2,100 เมกกะวัตต์ นั้นปัจจุบัน กกพ. กำหนดให้สิทธิ์ผู้ที่เคยเข้าประมูลในโครงการ 5,200 เมกะวัตต์ แต่ไม่ชนะการประมูลเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นประมูล แต่อยู่ในขั้นตอนเตรียมการยังไม่มีการประมูลเกิดขึ้น  โดยตนและกระทรวงพลังงานไม่เห็นด้วยและเคยนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)แล้ว แต่น่าจะเกิดความผิดพลาดจึงทำให้เกิดการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ต่างไปจากนโยบาย ซึ่งตนได้สั่งการให้แก้ไขไปแล้วและกำลังจะมีการประชุม กบง. เพื่อแก้ไขในเรื่องนี้

  แต่อย่างไรก็ดี กกพ. ที่เป็นผู้ดำเนินการนั้นเป็นองค์กรอิสระกระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจบังคับบัญชา กล่าวโดยง่ายคือไม่สามารถไปสั่งได้ แต่ก็ได้ใช้อำนาจตามที่มีอยู่โดยทำหนังสือทักท้วงพร้อมกับขอให้ทบทวนโครงการไปยัง กกพ. แล้วเป็นที่เรียบร้อย

 "เบื้องต้นได้รับการแจ้งว่าที่มาที่ไปทำให้เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว เกิดจากความผิดพลาดในการทำมติที่ประชุมซึ่งจะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป และเมื่อมีการทบทวนในเรื่องนี้ให้รอบคอบและถูกต้องแล้ว ก็จะรายงานไปยังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช. )ต่อไป กระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จในระยะเวลา 1 เดือน"

ด้านการกำหนดราคาการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการผลิต ประเภทแรกคือส่วนที่ผลิตจากแสงแดดมีการรับซื้อที่ 2.16 บาทต่อหน่วย และประเภทที่ผลิตจากพลังงานลมมีการรับซื้อที่ 3.10 บาทต่อหน่วย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนไม่ได้มีราคาสูงกว่าการรับซื้อเดิม

 ทั้งนี้ การซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง หรือ Direct PPA แตกต่างจาก การรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน (RE)เพราะ  Direct PPA  เป็นการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการกิจการโรงไฟฟ้ากับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าโดยตรง 

ส่วนพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน (RE) หรือการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนเป็นส่วนที่ส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟผ.เพื่อให้ได้สัดส่วน RE ก่อนจัดเก็บ UGT เพื่อให้เอกชน หรือ ภาคธุรกิจระหว่างประเทศนำไปขอ REC ก่อนนำไปใช้เป็นข้อมูลทางการค้าจะได้ไม่ต้องเสียภาษีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ

“พลังงานไฟฟ้าที่ได้มานั้น จะไม่สามารถแยกออกได้ว่าพลังงานไฟฟ้าหน่วยใดมีที่มาจากแหล่งใด ซึ่งมิใช่แค่ UGT แม้กระทั่ง Direct PPA ก็ไม่สามารถแยกได้ เว้นแต่เอกชนจะดำเนินการเดินสายส่งไฟฟ้าด้วยตนเอง ซึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้เอกชนหลายรายพิจารณาใช้สายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ทดแทน”

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2566 หลังการกำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสอง จำนวน 3,668.50 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยประเภทเชื้อเพลิง ดังนี้ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้ง บนพื้นดิน จำนวน 2,632 เมกะวัตต์  แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 1,580 เมกะวัตต์จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 1,052 เมกะวัตต์ 

 พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์  แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 600 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 400 เมกะวัตต์  ก๊าซชีวภาพ (น้าเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.50 เมกะวัตต์ และ ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์

ปัจจุบัน กกพ. ได้ออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สาหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม)พ.ศ. 2567 โดยให้สิทธิ์กับกลุ่มรายชื่อเดิม จำนวน 198 รายมายื่นแบบการแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมการคัดเลือก 

ทั้งนี้ กกพ. จะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผลการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ที่ได้จัดทำไว้ โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไข คำเสนอขายไฟฟ้า ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งคาดว่าสำนักงาน กกพ. จะประกาศผลคัดเลือกได้ภายในสิ้นปี2567

จับตา“กกพ.”ซื้อไฟฟ้าREหลัง“ก.พลังงาน”ค้านเกณฑ์เฟ้นผู้เคยยื่น198 รายก่อน