"ภูมิทัศน์“อุตฯเซมิคอนดักเตอร์”ท้า“บอร์ดแห่งชาติ”ทางแยกโกบอลซัพพลายเชน

"ภูมิทัศน์“อุตฯเซมิคอนดักเตอร์”ท้า“บอร์ดแห่งชาติ”ทางแยกโกบอลซัพพลายเชน

“เซมิคอนดักเตอร์”เป็นกระดูกสันหลังของทุกสิ่งตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์ไปจนถึงระบบพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นธาตุอย่างซิลิกอน หรือสารประกอบอย่างอินเดียมฟอสไฟด์หรือแกลเลียมไนไตรด์ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อพลวัตของพลังงานทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ 

ข้อมูลจาก The Diplomat ระบุถึง อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตั้งเป้าหมายให้มาเลเซียเป็นประเทศที่“เป็นกลางที่สุด”ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยตั้งเป้าว่าจะเป็น “ศูนย์กลางการผลิตชิประดับโลก”

เป้าหมายดังกล่าวเปิดเผยในโอกาสการเปิดตัวกลยุทธ์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติว่า มาเลเซียกำลังแสวงหาการลงทุนมูลค่าอย่างน้อย 107,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพื่อสนับสนุนเป้าหมายนี้ รัฐบาลจะให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างน้อย 5,300 ล้านดอลลาร์เพื่อเสนอแรงจูงใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ และฝึกอบรมวิศวกรชาวมาเลเซีย 60,000 คน เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศได้ดึงดูดการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์จากบริษัทชั้นนำระดับนานาชาติ ซึ่งรวมถึง Intel ผู้ผลิตชิปของสหรัฐ ที่ประกาศในปี 2021 ว่าจะสร้างโรงงานบรรจุภัณฑ์ชิป 3 มิติ มูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ในมาเลเซีย และ Infineon บริษัทของเยอรมนี ที่ประกาศเมื่อปี 2023 ว่าจะลงทุน 5,400 ล้านดอลลาร เพื่อขยายโรงงานที่มีอยู่แล้วในมาเลเซีย เพื่อผลิตชิปสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมี บริษัทตะวันตกอย่าง AT&S, Nvidia, Texas Instruments, Ericsson และ Bosch ต่างก็ขยายแผนการทำงานในมาเลเซีย ซึ่งรวมถึงบริษัทจีนอย่าง Xfusion, StarFive และ TongFu Microelectronics

ปัจจุบันนิวยอร์กไทม์ระบุว่า มาเลเซียผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกแล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะเน้นที่ส่วนล่างของห่วงโซ่คุณค่า เช่น การประกอบและการทดสอบเท่านั้น 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 

พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน พร้อมแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมเป็นกรรมการ ได้แก่ รมว.ต่างประเทศ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.พลังงาน รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการสภาพัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 

และ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร นายวุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นายศุภกร คงสมจิตต์ โดยมีเลขาธิการบีโอไอ เป็นกรรมการและเลขานุการ

สำหรับบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ จะทำหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบาย และเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor and Advanced Electronics) พร้อมทั้งจัดทำแผนแม่บท (Roadmap) ของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นรูปธรรมและครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมการลงทุน การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม การพัฒนาบุคลากรทักษะสูงทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา การพัฒนา Supply Chain และการพัฒนาระบบนิเวศที่จำเป็นต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม 

นอกจากนี้ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ จะมีหน้าที่ในการพิจารณาแผนงานและโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งการบูรณาการและติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

รายงาน EMERGING RESILIENCE IN THE SEMICONDUCTOR SUPPLY CHAIN MAY 2024 จัดทำและเผยแพร่โดย Boston Consulting Group (BCG) และ The Semiconductor Industry Association (SIA) ระบุว่า  ห่วงโซ่อุปทาน

เซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกต้องเผชิญกับความตึงเครียดและความซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้น ความขัดแย้งทางทหารสามารถรบกวนห่วงโซ่อุปทานและนำไปสู่การขาดแคลน อย่างกรณีการหยุดชะงักของก๊าซนีออนที่ใช้ในเลเซอร์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน

     นอกจากนี้ยังมีประเด็นข้อพิพาทที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในปี 2019 ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทำให้ญี่ปุ่นควบคุมการส่งออกวัสดุที่สำคัญต่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เช่น ไฮโดรเจนฟลูออไรด์ โพลีเอไมด์ฟลูออไรด์ และโฟโตรีซิสต์จากเกาหลีใต้ อุทกภัย ไฟไหม้ และภัยพิบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ รวมถึงโรคการระบาดใหญ่รวมถึงความเสี่ยงแบบ “หงส์ดำ” (Black Swan)  ซึ่งเป็นคำเรียกปรากฎการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นและเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบรุนแรงมาก

“การค้าผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเติบโต 43% ระหว่างปี 2017 ถึง 2022 ซึ่งพบว่าส่วนแบ่งการส่งออกตลาดโลกของสหรัฐลดลงแต่ส่วนแบ่งตลาดของจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น”

ความตึงเครียดระหว่าง สหรัฐ และจีนแผ่นดินใหญ่ทำให้บริษัทต่างๆ ในระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์โลกมีความไม่แน่นอนอย่างมาก ทั้งที่บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำเหล่านี้ ทั้งในด้านการผลิต การออกแบบ วัสดุ และอุปกรณ์เวเฟอร์ยังคงสร้างรายได้จำนวนมากหให้จีน

    ทั้งนี้ มีข้อมูลชี้ว่า การที่สหรัฐแยกเทคโนโลยีออกจากจีนทั้งหมดนั้นกลับจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐสูญเสียยอดขายและตำแหน่งผู้นำด้านนวัตกรรม รวมถึงสูญเสียตำแหน่งงานโดยตรงที่มีทักษะสูงในอุตสาหกรรม 15,000 ถึง 40,000 ตำแหน่ง

รายงานยังชี้อีกว่า ห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกซึ่งเป็นอุตสาหรรมที่มี“ความเฉพาะทาง”สูงมากนั้น  ทำให้ภูมิภาคต่างๆ นำเสนอจุดแข็งเพื่อดึงดูดการลงทุน เช่น บริษัทในสหรัฐ จะทำหน้าที่เป็นผู้นำในด้านการออกแบบ IP หลัก( Intellectual Property Core (Core IP)) และ  EDA   ( Electronic Design Automation (EDA))

ขณะที่ สหรัฐ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เป็นผู้นำในด้านอุปกรณ์ร่วมกัน ส่วนบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้เป็นผู้นำในด้านวัสดุ ด้านบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในเกาหลีใต้และไต้หวันเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการผลิตโหนดขั้นสูง หรือ ชิปขนาดต่ำกว่า 10 นาโนเมตร  และมีการใช้ ATP ( Back End การประกอบ ทดสอบและส่งมอบเซมิคอนดักเตอร์ (Assembly, Test, and Packaging)) ในจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน

“การแบ่งกันผลิตในแต่ละส่วนตามภูมิภาคและความถนัดของแต่ละประเทศเป็นเหมือนการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานของโลกแต่ในทางกลับกันได้สร้างจุดอ่อนให้อุตสาหกรรมนี้โดยไม่รู้ตัวเพราะ ห่วงโซ่อุปทานแบบนี้จะได้รับผลกระทบทันทีจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังอยู่ในภาวะอ่อนแอจึงนำไปสู่ความพยายามแยกส่วนห่วงโซ่อุปทาน” 

รายงานระบุถึงการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ โดยชี้ว่า การผลิตเวเฟอร์ โดยเฉพาะในลอจิกขั้นสูง และ ATP จะต้องนำออกจากจีนและไต้หวัน  ซึ่งนั่นหมายถึงการนำผลกำไรไปยังแหล่งรับการลงทุนใหม่ๆ แต่ไม่น่าจะเป็นการกลับไปที่สหรัฐเพราะมีแรงกดดันด้านต้นทุนแต่ก็มีข้อยกเว้นในกรณีเป็นการผลิตชั้นสูงมากๆ ด้านบุคลากรและวัสดุหรือแร่จำเป็นก็จะเป็นอีกเงื่อนไขที่หากจะพิจารณาแหล่งลงทุนใหม่ก็จะต้องตอบสนองข้อจำกัดเหล่านี้ด้วย 

เงินลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แรงงานทักษะสูง หรือแม้แต่ผู้ผลิตแร่จำเป็น ต่างกำลังจับตามการกระจายตัวของซัพพลายเชนอุตสาหกรรมนี้อย่างใกล้ชิดยุคที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มีชิปเป็นสมองกล และมีเซมิคอนดักเตอร์เป็นกระดูกสันหลังกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ประเทศไทยเองก็ไม่ควรหลุดออกจากแผนที่แห่งการผลิตชั้นสูงนี้ด้วย 

\"ภูมิทัศน์“อุตฯเซมิคอนดักเตอร์”ท้า“บอร์ดแห่งชาติ”ทางแยกโกบอลซัพพลายเชน