“อุตฯการบิน”ส่งสัญญาณฟื้นทะลุกรอบโควิด“ทอท.”เร่งเติมศักยภาพแอร์พอร์ต
อุตสาหกรรมการบินมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแม้ในช่วงหลายปีท่ี่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19อุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบจนแทบจะไม่เห็นอนาคต
องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(อังกฤษ: International Civil Aviation Organization - ICAO) เปิดเผยการวิเคราะห์แนวโน้มการจราจรตามภูมิภาคว่า ในส่วนเอเชีย/แปซิฟิก ASK หรือจำนวนที่นั่งที่ว่าง (บริการทั้งหมด) ลดลง 11.3% ในขณะที่ RPK หรือ รายได้จากจำนวนผู้โดยสาร(บริการทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 6.8% (ก.ค. 2024 เมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดโควิด-19 หรือก.ค. 2019) ส่วนบริการระหว่างประเทศพบว่า ASK ลดลง 18.7% ในขณะที่ RPK ลดลง 11.3%
หากวิเคราะห์จากข้อมูลจาก ICAO จะพบว่าสถานการณ์การบินมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแต่ยังไม่ดูเท่าก่อนหน้าการระบาดโควิด-19 อย่างไรก็ตาม พบว่ามีเส้นทางบินที่มีอัตราเติบโตดีขึ้นเท่ากับช่วงก่อนการระบาด เช่น อันดับ1 เส้นทางยุโรป-แอฟริกาเหนือ อันดับ 2 เส้นทางอเมริกาเหนือ-เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ อันดับ 3 ภายในภูมิภาคอเมริกากลาง/แคริบเบียน อันดับที่ 4 ภายในภูมิภาคอเมริกาเหนือ อันดับที่ 5 อเมริกากลาง/แคริบเบียน
ส่วน เส้นทางแถบเอเชียอยู่ในอันดับท้ายๆในกลุ่มที่ฟื้นตัวแล้ว แต่พบว่าเส้นทางทางจากจีนมาเอเชีย หรือ จีนไปอเมริกาเหนือ เป็นกลุ่มที่รั่งท้ายการฟื้นตัววัดจากความหน้าแน่นของเที่ยวบิน
หากพิจารณา สัดส่วนตลาดการบินแยกตามภูมิภาคต่างๆ พบว่า ณ ส.ค. 2567 เอเชียแปซิฟิก อยู่ที่ 34% ยุโรป 24% ละติน/แคริบเบียน 7% ตะวันออกกลาง 6% อเมริกาเหนือ 26% แอฟริกา 3%
ขณะที่สนามบินที่มีจำนวนเที่ยวบินหนาแน่ สูงสุดคือ ท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัมสคิปโฮล เนเธอร์แลนด์ รองลงมาคือ ท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์ อังกฤษ และ ดูไบ อินเตอร์เนชั่นแนล
กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566 - ก.ย. 2567) โดยระบุว่า ในช่วงปีงบประมาณดังกล่าวมีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ในปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 2567 - ก.ย. 2568) ทอท.คาดว่าจะผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 129.97 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 78.61 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.17% และผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 51.36 คน เพิ่มขึ้น 10.18%
ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.32% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 453,750 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.02% และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 354,530 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.02% โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 64.44 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.40% และมีเที่ยวบินประมาณ 376,820 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.69% ส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง มีผู้โดยสารประมาณ 33.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.91% และมีเที่ยวบินประมาณ 223,200 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 13.00%
ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาบริการผู้โดยสารให้ดีอย่างต่อเนื่อง ทอท.ได้นำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร โดยจะให้บริการภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ซึ่งในวันที่ 1 พ.ย. 2567 นำร่องสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศสามารถใช้งานได้ก่อน และในวันที่ 1 ธ.ค. 2567 พร้อมใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลด้วย
สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการใช้งานระบบ Biometric สามารถลงทะเบียนใช้งานเมื่อมาเช็กอินที่สนามบิน โดยมี 2 วิธี ได้แก่ 1.เช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอิน ผู้โดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่สายการบินให้ลงทะเบียนใบหน้าในระบบ Biometric ผ่านเครื่องตรวจบัตรโดยสาร (เครื่อง CUTE) โดยระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบ
2.เช็กอินที่เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (เครื่อง CUSS) โดยหลังจากเช็กอินเสร็จแล้ว ให้ผู้โดยสารเลือกสายการบินที่เดินทาง ต่อด้วยเลือก “Enrollment” จากนั้นสแกน barcode จากบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) เสียบหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประชาชน และสแกนใบหน้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถือเป็นการเสร็จสิ้นการลงทะเบียน
“6 เดือนแรกจะยังมีเจ้าหน้าที่บริการตรวจสอบบัตรโดยสารแบบปกติอยู่ เพื่อทำให้ประชาชนทุกกลุ่มใช้บริการท่าอากาศยานได้โดยไม่มีปัญหา ส่วนประเด็นที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับ PDPA ทอท. ยืนยันว่าเราดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ และหลังจากนี้จะพัฒนาระบบเพื่อจัดเก็บข้อมูลผู้โดยสารให้นานมากขึ้น โดยยืนยันได้ว่าระบบจัดเก็บข้อมูลของเรามีความปลอดภัย”
มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการตรวจเยี่ยม บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการจราจรทางอากาศ ทั้งในด้านระบบ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบุคคลากร รองรับการเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มเปิดให้บริการไปตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สามารถรองรับเที่ยวบินจากเดิม 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
อีกทั้งในปีงบประมาณ 2567 คาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินรวมทั้งประเทศ 836,513 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2566 ขณะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ จะมีเที่ยวบิน รวม 348,980 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ย 950 เที่ยวบินต่อวัน ภาพรวมปริมาณเที่ยวบินใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงฯ ตั้งเป้าในปี 2568 คาดว่าจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านเที่ยวบิน เฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดว่าจะมีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มเป็น 1,000 เที่ยวบินต่อวัน
ขณะนี้ บวท. อยู่ในช่วงทยอยจัดสรรเที่ยวบินใช้บริการรันเวย์ 3 ซึ่งระหว่าง 2 เดือนแรกนี้ จะบริหารตารางบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ที่ 68 - 75 เที่ยวบินต่อชั่วโมง โดยจัดให้เที่ยวบินราว 30% ของจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด ไปทดลองใช้รันเวย์ 3 หลังจากนั้นอีก 2 เดือนถัดไปจะเพิ่มขีดความสามารถเป็น 75 - 85 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 85 - 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเต็มขีดความสามารถในช่วงต้นปี 2568 ขณะเดียวกันหากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิพัฒนารันเวย์ 4 ก็จะสามารถขยายขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินได้สูงสุด 134 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
โอกาสเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่มีความพร้อม สำหรับอุตสาหกรรมการบินที่ทอท.เป็นผู้เล่นสำคัญ กำลังเร่งเติมศักยภาพสนามบินให้พร้อมสำหรับโอกาสจากความคึกคักภาคการบินในขณะนี้