แก้เศรษฐกิจใต้ดิน เริ่มที่ 'บุหรี่เถื่อน' ทำเศรษฐกิจเสียหายปีละ 3 หมื่นล้าน
เปิดข้อมูลพิษภัย “บุหรี่เถื่อน” กระทบเศรษฐกิจปีละ 3 หมื่นล้าน รัฐสูญภาษี 2.3 หมื่นล้าน ที่เหลือเป็นผลกระทบต่อเนื่องไปยังเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ และร้านค้าที่ถูกกฎหมาย หากรัฐบาลจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบต้องกล้าที่จะปราบปรามบุหรี่เถื่อนอย่างจริงจัง
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบ หรือเศรษฐกิจใต้ดินที่มีขนาดใหญ่มาก ข้อมูล Informal Economy Database ของธนาคารโลก ระบุว่าในปี 2021 ไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบ สูงถึง 48.7% ของ GDP โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 32.7% และสูงกว่าเกือบทุกประเทศในเอเชีย (เป็นรองแค่ประเทศเมียนมา) และถ้าเทียบกับ GDP ของไทยในปี 2021 ที่อยู่ที่ 18 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าเราจะมีขนาดเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่ถึง 8 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
รัฐบาลของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจใต้ดินให้เป็นแหล่งารายได้ใหม่ด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี
ทั้งนี้ในภาพความเป็นจริงของประเทศไทยในปัจจุบันมีเศรษฐกิจบางส่วนที่เติบโตขึ้นจากการเป็นเศรษฐกิจนอกระบบที่ทำผิดกฎหมาย นอกเหนือจากยาเสพติดและการพนันยังมีการค้าของเถื่อน เช่น น้ำมันเถื่อน หมูเถื่อน และบุหรี่เถื่อนที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของรัฐเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
ในส่วนของบุหรี่เถื่อน หรือบุหรี่ไม่เสียภาษี ถือว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวไม่เพียงแต่กระทบต่อรายได้ของภาครัฐ แต่ยังส่งผลต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมยาสูบทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เพราะในห่วงโซ่ธุรกิจของบุหรี่นั้นมีตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ กลางน้ำคือผู้ผลิต ผู้ค้า และปลายน้ำคือร้านค้าบุหรี่ถูกกฎหมาย ตลอดจนผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบไปตามๆกัน
ทั้งนี้หากคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สร้างความเสียหายในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยตัวเลขนี้มาจากสถิติที่พบว่าบุหรี่เถื่อนในประเทศไทยเติบโตขึ้นถึง 10 เท่าภายในระยะเวลาแค่ 6 ปี และในท้องตลาดทั่วไปมีบุหรี่เถื่อนปะปนอยู่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% หรือ 1 ใน 4 ของบุหรี่ทั้งหมด
บุหรี่เถื่อนกระทบเศรษฐกิจ 3 หมื่นล้าน
โดยผลกระทบของ"บุหรี่เถื่อน"ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกว่า 3 หมื่นล้านบาทแบ่งเป็นผลกระทบด้านต่างๆดังนี้
1.ผลกระทบต่อรายได้รัฐกว่า 23,000 ล้านบาท ต่อปี มาจากการที่บุหรี่เถื่อนทำให้สูญเสียรายได้ ประกอบไปด้วย ภาษีสรรพสามิต 17,000 ล้านบาท ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) 1,300 ล้านบาท ภาษีบำรุงท้องที่ 700 ล้านบาท ภาษีมหาดไทย 1,700 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,900 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้หากมีการจัดเก็บภาษีถูกต้องจะสามารถสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ถึง 2 แห่ง
2.ผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ โดยผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปซื้อบุหรี่เถื่อนซึ่งมีราคาถูกกว่ามาก ทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลง ส่งผลกระทบต่อการรับซื้อใบยาจากชาวไร่ บุหรี่เถื่อน 25% คิดเป็นใบยาที่หายไปกว่า 7 ล้านกิโลกรัม มูลค่าประมาณ 700 ล้านบาทต่อปี กระทบชาวไร่ยาสูบกว่า 22,000 ครอบครัวทั่วไทย
3.ผลกระทบต่อร้านค้าที่จำหน่ายบุหรี่ถูกกฎหมาย ร้านค้าไม่สามารถขายบุหรี่ได้ เนื่องจากลูกค้าหันไปซื้อบุหรี่เถื่อนแทน ทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลงกว่า 50% ซึ่งเมื่อลูกค้าไม่เข้าร้านก็ทำให้ร้านค้าเสียโอกาสในการขายสินค้าอื่นไปด้วย ซึ่งรายได้จากการขายบุหรี่เฉลี่ยคิดเป็น 20-30% ของรายได้รวมจากการขายสินค้าในแต่ละวัน ร้านค้าบุหรี่ที่ถูกกฎหมายทั่วประเทศประมาณ 5 แสนร้านค้าโดยเฉพาะภาคใต้รายได้ต่อวันลดลงเฉลี่ย 700-1,400 บาท คิดเป็นความสูญเสียรวมกว่า 2,200 ล้านบาท
และ 4.ผลกระทบต่อร้านค้าขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของขบวนการบุหรี่ปลอมที่มักจะนำสินค้ามาหลอกขายร้านค้า ซึ่งร้านค้าที่ดูไม่ออก ก็จะโดนหลอกให้รับซื้อบุหรี่ปลอมไว้ ทำให้ต้องตกเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมายมีโทษทั้งจำและปรับ และยังต้องเสียเงินซื้อบุหรี่ปลอมมาเก็บไว้แต่ไม่สามารถขายได้อีกด้วย
นอกจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจบุหรี่เถื่อนยังมีผลกระทบทางสังคมและสุขภาพ โดยบุหรี่เถื่อนนั้น มีราคาถูก ผู้สูบบุหรี่ เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้ง ยังไม่มีภาพและข้อถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ และบุหรี่เถื่อนเป็นต้นต่อของการทุจริต คอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ การค้าบุหรี่เถื่อนยังอาจะเป็นแหล่งเงินทุนของอาชญากรรมข้ามประเทศด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การทำงานของรัฐบาลเช่นกัน
การแก้ไขปัญหานี้ถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องมีการผสานนโยบาย ความร่วมมือ และอำนาจหน้าที่ต่างๆแล้วทำงานให้ กระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องร่วมกับภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การแก้ปัญหานี้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม