ระวัง “ฟองสบู่อสังหาฯ”
ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในกลุ่มได้รับผลกระทบอย่างหนัก สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทั้งสำหรับโครงการใหม่และผู้ซื้อรายย่อย จนอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง
ว่ากันว่า ภาคอสังหาฯ ปีนี้จึงนับได้ว่าเข้าสู่ภาวะชะลอตัวต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี จากยอดขาย ยอดโอน ยอดการปล่อยสินเชื่อในระบบแบงก์ต่ำสุดในรอบ 23 ปี
ภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย ถือว่าสำคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ธุรกิจเชื่อมโยงกับหลายส่วน ตั้งแต่อุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจสถาปนิก ไปจนถึงภาคการเงินและการธนาคาร การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ มีส่วนสำคัญในการจ้างงาน ทั้งแรงงานก่อสร้าง ช่างฝีมือ วิศวกร สถาปนิก และบุคลากรในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง ภาคอสังหาฯ ยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ หรือโครงการที่โดดเด่นด้านทำเลที่ตั้ง ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือซื้อเพื่อการอยู่อาศัย
ในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคอสังหาฯ มีบทบาทสำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านกลไกหลายเรื่อง เริ่มจากการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การซื้อที่อยู่อาศัยมักนำมาซึ่งการใช้จ่ายในสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า การตกแต่งบ้าน ทั้งช่วยกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เกิดการพัฒนาย่านธุรกิจใหม่ๆ ศูนย์การค้า สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลผ่านการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าธรรมเนียมการโอน และภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ รัฐบาลต้องทำอย่างเป็นระบบ และชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองลงสำหรับที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ พร้อมทั้งผ่อนปรนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น หรือให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในมิติต่างๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ
หรืออาจใช้มาตรการทางการเงิน ดูแลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สูงเกินไปจนกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องตระหนักถึงการสร้างสมดุลระหว่างการกระตุ้นตลาด และการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ดำเนินมาตรการที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เหนือสิ่งอื่นใด รัฐต้องระวังและคำนึงถึงการป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงป้องกันปัญหาหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เครื่องมือที่นำมาใช้กระตุ้นหรือพลิกฟื้นต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงทีตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง