'คลัง' มุ่งยั่งยืน ลดขาดดุลงบประมาณ ดึง 'นโยบายการเงิน' กระตุ้นเศรษฐกิจ
ภายหลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ทำให้รัฐบาลทุ่มใช้เม็ดเงินไปกับมาตรการการคลังเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อ ซึ่งส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
KEY
POINTS
- ปี 2568 รัฐบาลปรับทิศทางการใช้นโยบายการคลัง โดยลดบทบาทความร้อนแรง และมุ่งสู่การคลังยั่งยืน
- นโยบายการเงินจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตตามเป้า GDP ขยายตัวแตะ 3.5% และเงินเฟ้ออยู่ที่ 2%
- ในปีหน้าอาจเห็นการปรับลดดอกเบี้ย มาตรการคลังและกึ่งการคลัง เพื่อการสนับสนุนการลงทุน และลดภาระหนี้ครัวเรือน
ภายหลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ทำให้รัฐบาลทุ่มใช้เม็ดเงินไปกับมาตรการการคลังเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อ ซึ่งส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเทียบกับช่วง 8 ปีก่อน ระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ 48-49% ขณะที่ในปีงบประมาณ 2568 หนี้สาธารณะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 65-66% ใกล้ชนเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาสมดุลและบริหารจัดการความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต และการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ในปี 2568 กระทรวงการคลังจึงเริ่มลดความร้อนแรงในการใช้มาตรการทางการคลัง รวมทั้งการใช้มาตรการกึ่งการคลัง เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลงให้เข้าใกล้ 3% ต่อ GDP โดยมุ่งสร้างนโยบายการคลังยั่งยืน เพื่อรักษาวินัยและเสถียรภาพทางการคลัง
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า บทบาทสำคัญของกระทรวงการคลังในปี 2568 จะมีการดำเนินนโยบายการคลังเชิงบูรณาการ โดยมุ่งเน้นการรักษาวินัยและเสถียรภาพทางการคลัง (Fiscal Discipline and Stability) ผ่านการบริหารจัดการรายได้และรายจ่ายภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง
นายพรชัย กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุด ได้มีการทำความเข้าใจตรงกันว่ากระทรวงการคลังจะลดบทบาทและความร้อนแรงของการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากการดำเนินนโยบายที่ผ่านมา มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สาธารณะและเป็นความเสี่ยงการจัดการภาระทางการคลังในอนาคต โดยคาดหวังให้การขาดดุลงบประมาณในปี 2569 ให้อยู่ที่ประมาณ 3%
ปัจจุบัน ตามแผนการคลังระยะปานกลาง งบประมาณรายจ่ายปี 2568 จำนวน 3.75 ล้านล้านบาท มีการตั้งขาดดุลงบฯ อยู่ที่ 8.65 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.5% GDP และปี 2569 อยู่ที่ 3.5%
"โดยหลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยตัวเลขจีดีพีในเดือนหน้า จะมีการทบทวนตัวเลขการขาดดุลการคลังหลังจากที่และนำมาปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลางรอบถัดไปที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในธ.ค. ปีนี้"
เร่งนโยบายการเงินดัน GDP
ทั้งนี้ ธปท.จะต้องเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสม ส่งเสริมให้มีการลงทุนภาคเอกชน กระตุ้นการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ภายใต้การใช้เครื่องมือและนโยบายทางการเงิน อาทิ การลดดอกเบี้ย
ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี ในการประชุมวันที่ 4 พ.ย. นี้ เพื่อพิจารณามาตรการเร่งเศรษฐกิจช่วงปลายปี
โดยจะมีแพ็คเกจของขวัญปีใหม่ รวมทั้งการใช้มาตรการกึ่งการคลังควบคู่กับมาตรการการเงินเร่งการขยายตัวเศรษฐกิจในปีหน้าเพื่อให้บรรลุกรอบเป้าหมาย GDP ขยายตัว 3.5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2%