สกพอ.ชี้ร่วมทุน 'ไฮสปีด' ใช้กฎหมายอีอีซี เปิดช่องเจรจาแก้สัญญาได้
สกพอ.ยันแก้สัญญา “ไฮสปีดสามสนามบิน” ไม่เอื้อเอกชน ชี้เหตุผลรัฐและเอกชนต่างผิดเงื่อนไขในสัญญา อีกทั้งโครงการยังใช้กฎหมายร่วมทุนอีอีซี 50 ปี จึงเปิดช่องเจรจาแก้ไขหลักการหากมีเหตุกระทบทางการเงิน ย้ำหลังลงนามสัญญาใหม่ “ซีพี” ต้องวางแบงก์การันตี 1.6 แสนล้านบาท
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงกรณีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า ขณะนี้ สกพอ.ได้ส่งรายละเอียดการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวที่ผ่านมาพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดยกระบวนการหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในการบรรจุวาระเข้า ครม.ซึ่งจะดำเนินการแบ่งเป็น 2 ครั้งในการเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 เสนอเพื่อขอแก้ไขหลักการร่วมทุนตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561 โดยหาก ครม.มีมติอนุมัติ หลังจากนั้นคู่สัญญา คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท เอเชีย เอราวัน หรือ กลุ่มซีพี จะร่วมกันเจรจาร่างสัญญาแก้ไข และเสนอไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และนำกลับมาเสนอ ครม.ครั้งที่ 2 เพื่อขออนุมัติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาอีกครั้ง ก่อนคู่สัญญาจะลงนามในสัญญาฉบับแก้ไขต่อไป
“ตอนนี้จะต้องมีการเสนอ ครม.เพื่อทบทวนมติเดิมก่อน เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด และจากการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามสัญญาร่วมทุนของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย การรถไฟฯ ก็ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนด และทางกลุ่มซีพีก็ไม่สามารถจ่ายเงินและค่าบริหารสิทธิรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ตามกำหนด ทำให้หลักการร่วมทุนเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการเจรจาและแก้ไขร่วมกัน เพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าต่อ”
ส่วนกระแสข่าวที่บอกว่ามีการขัดแย้งกันในรัฐบาล เรื่องนี้ตนไม่ทราบข้อมูล แต่ยืนยันว่าโครงการไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เกิดการลงทุน มีความจำเป็นในการพัฒนาโครงการนี้เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจ และการแก้ไขสัญญาร่วมทุนครั้งนี้ ก็ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์เอกชน เพราะภาครัฐพิจารณาอยู่บนเงื่อนไขรัฐต้องไม่เสียประโยชน์ และการแก้ไขสัญญานี้ก็เจรจากันมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่ภาครัฐไม่ยอมรับเงื่อนไขเอกชน จนยาวมาถึงปัจจุบันที่ได้ข้อตกลงที่เห็นชอบร่วมกัน และรัฐไม่เสียผลประโยชน์
นายจุฬา กล่าวด้วยว่า รูปแบบของโครงการร่วมทุนในปัจจุบันมีหลายลักษณะ ซึ่งโครงการไฮสปีดสามสนามบินนั้นไม่ได้เป็นการร่วมทุนในรูปแบบพีพีพีตามสัญญาปกติ แต่เป็นกฎหมายร่วมทุนของอีอีซี ที่ในกฎหมายระบุด้วยว่าให้สามารถบริหารสัญญาได้ เนื่องจากโครงการร่วมทุนในอีอีซีมีอายุสัญญานานถึง 50 ปี สัญญาจึงเป็นกึ่งสัมปทานและพาร์ทเนอร์เพื่อให้บริหารโครงการนี้ไปต่อได้ในระยะยาว หากอนาคตข้างหน้าเกิดผลกระทบที่ไม่สามารถควบคุมได้ และเป็นผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรง คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายก็สามารถเจรจาเพื่อแก้ไขหลักการร่วมทุน
“ผลกระทบจากโควิด และสงครามต่างๆ เป็นเหตุให้การคาดการณ์ตัวเลขผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่ศึกษาไว้ และทางซีพีก็มีผลกระทบด้านดอกเบี้ยที่สูงเกินคาด ทำให้เรื่องนี้ต้องเจรจากันมา 4 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องยอมรับว่าต่างฝ่ายต่างดำเนินงานไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขสัญญา ทางการรถไฟฯ ก็ส่งมอบพื้นที่ได้ไม่ครบ ทางซีพีก็จ่ายค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตลิงก์ไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐและเอกชนเหมือนหมั้นกัน อยู่ในขั้นเตรียมดำเนินการ และตอนนี้ก่อนจะคลอดลูกก็ต้องมาแก้กันก่อนดำเนินการ เพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไป”
นายจุฬา เผยด้วยว่า ที่ผ่านมาทางซีพีได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ และเสนอเหตุผลของการขอแก้สัญญาร่วมทุน 6 – 7 ข้อ แต่ภาครัฐเห็นด้วยเพียงข้อเดียว คือ เรื่องดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตอนทำสัญญาจะดำเนินการ จึงเป็นที่มาของการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาร่วมทุน แต่อย่างไรก็ดี สกพอ. ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้แก้ไขสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์เอกชน เพราะยังคงหลักการที่ภาครัฐจะได้ประโยชน์เช่นเดิม เพียงแต่ปรับวิธีการจ่ายเงิน จากเดิมที่ภาครัฐจะสนับสนุนค่างานโยธาก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ แต่สัญญาใหม่จะปรับเป็นภาครัฐจะแบ่งง่ายเป็น 7 งวด วงเงินไม่เกิน 1.2 แสนล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเมื่องวดงานแล้วเสร็จ แต่กำหนดแล้วเสร็จงานก่อสร้างภายใน 5 ปี
นอกจากนี้ เมื่อแก้ไขสัญญาร่วมทุนแล้ว ภาครัฐโดย ร.ฟ.ท.จะออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) เพื่อให้เอกชนสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที แต่หากเอกชนต้องการรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ต้องวางหนังสือค้ำประกัน ซึ่งเป็นหลักประกันทางการเงิน หรือแบงก์การันตี รวมเป็นจำนวน 1.6 แสนล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการโครงการภายใน 5 ปี โดยหากเอกชนก่อสร้างและส่งงวดงานแล้วเสร็จ จึงจะทยอยนำแบงก์การันตีคืนกลับไปได้ตามมูลค่างวดงานนั้นๆ
ขณะที่ประเด็นการมอบสิทธิ์บริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้กับกลุ่มซีพี แม้ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญานั้น พบว่าปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ได้จ้างกลุ่มซีพีเข้ามาเดินรถ โดยรายได้ทั้งหมดจัดเก็บส่งให้ ร.ฟ.ท. โดยแต่ละปีพบว่าทางกลุ่มซีพีขาดทุนปีละ 300 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากค่าบริหารจัดการ รวม 3 ปี ขาดทุนมาตลอดเกือบ 1 พันล้านบาท ดังนั้นถึงแม้ซีพียังไม่ได้จ่ายค่าบริหารสิทธิ์ แต่ปัจจุบันก็รับรู้เรื่องการขาดทุนแล้ว และรัฐไม่ได้เสียเปรียบ