ยุทธศาสตร์“เศรษฐกิจชีวภาพ”ปลดล็อก-ยกระดับภาคเกษตรเติมมูลค่าจีดีพีไทย
ข้อจำกัดและการแข่งขันทางเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศทำให้เป้าหมายการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีเป็นไปได้ยากมากขึ้น
แต่การคิดนอกกรอบการพัฒนาด้านเศรษฐกิจจะเป็นการสร้างโอกาสใหม่ ซึ่งวิธีการใหม่ย่อมทำให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ได้ด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio-economy คือ เป็นแนวคิดการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านทรัพยากรชีวภาพเพื่อปลดล็อกการผลิต โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานกับองค์ความรู้ท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่การผลิตและยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการสร้างมลภาวะ
ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมเป้าหมายระบุว่า ปี 2565 มีอัตราการเติบโตอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้น 3% คิดเป็นมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท ส่วนปี 2567 มีอัตราการเติบโตอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้น 6% คิดเป็นมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มสะสมเป็น 100,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2570 มีอัตราการเติบโตอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขึ้น 10% คิดเป็นมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มสะสมเป็น 190,000 ล้านบาท
เมื่อเร็วๆนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ พ.ศ. 2566 - 2570 (ร่างแผนปฏิบัติการฯ) และเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) (เป้าหมายระดับชาติฯ) และมอบหมายให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำส่งแผนปฏิบัติการฯ และเป้าหมายระดับชาติฯ ดังกล่าว ให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
สาระสำคัญ ร่างแผนปฏิบัติการฯ ที่ ทส. เสนอ เป็นแผนหลักของประเทศด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่มีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ 12 เป้าหมายดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และขจัดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อคงไว้ซึ่งบริการจากระบบนิเวศประกอบด้วย 4 เป้าหมาย ดังนี้ เป้าหมายที่ 1ลดการสูญเสียพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าหมายที่ 2อนุรักษ์ ฟื้นฟู ขยายพื้นที่คุ้มครอง เพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
เป้าหมายที่ 3อนุรักษ์และคุ้มครองชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามและชนิดพันธุ์ธรรมชาติ ลดปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกราน เป้าหมายที่ 4ลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนประกอบด้วย 3 เป้าหมาย ดังนี้ เป้าหมายที่ 5ส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพบนพื้นฐานของบริการจากระบบนิเวศ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และรายได้ของประชาชน เป้าหมายที่ 6ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในภาคการผลิตและบริการ เป้าหมายที่ 7จัดให้มีกลไกและมาตรการการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเสริมสร้างขีดความสามารถและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพประกอบด้วย 5 เป้าหมาย ดังนี้ เป้าหมายที่ 8 บูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าหมายที่ 9เพิ่มช่องทางและเงินทุนสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ
เป้าหมายที่ 10พัฒนาระบบข้อมูลและองค์ความรู้ เป้าหมายที่ 11เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ และความร่วมมือ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เป้าหมายที่ 12พัฒนาและปรับปรุงเครื่องมือด้านกฎหมาย
สำหรับเป้าหมายระดับชาติฯจะต้องดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 โดยกำหนดเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ จำนวน 4 เป้าหมาย ดังนี้ 1.มีพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ของประเทศ ทั้งบนบกและในทะเล อย่างน้อย 30% เป้าหมายที่ 2. ดัชนีสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red List index) ไม่น้อยลง จากข้อมูลปีฐาน พ.ศ. 2568 เป้าหมายที่ 3 มีมาตรการในการจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานที่มีลำดับความสำคัญสูงอย่างน้อย 35% เป้าหมาย 4.สัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET50 ที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ ไม่น้อยกว่า30%
ประเทศไทยทำการเกษตรมานานแต่วิธีการและผลลัพธ์ก็ยังไม่ต่างจากเดิม ทั้งที่ สถานการณ์และความท้าทายเปลี่ยนไปดังนั้นการปลดล็อกภาคการเกษตรโดยใช้หลักการเศรษฐกิจชีวภาพจะช่วยให้การเพิ่มมูลค่าจีดีพีให้ประเทศได้มากขึ้น