เบื้องลึก ‘คลัง’ ตั้งผู้บริหารแผน ‘การบินไทย’ จับตาภารกิจกำหนด ‘ราคาหุ้น’

เบื้องลึก ‘คลัง’ ตั้งผู้บริหารแผน ‘การบินไทย’ จับตาภารกิจกำหนด ‘ราคาหุ้น’

เปิดเบื้องลึก ”การบินไทย“ ถูกแทรกแซงโค้งสุดท้ายก่อนออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ “พิชัย” ผู้เสนอรายชื่อตั้งตัวแทนนั่งทีมบริหารแผน จับตาภารกิจแรกเคาะราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน และตั้งบอร์ดชุดใหม่ ธ.ค.นี้

KEY

POINTS

  • เปิดเบื้องลึก "การบินไทย" ถูกแทรกแซงโค้งสุดท้ายก่อนออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ หลัง "พิชัย ชุณหวชิร" เสนอรายชื่อตั้งตัวแทนนั่งทีมบริหารแผน
  • จับตาภารกิจแรกเคาะราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน รวมถึงการพิจารณาโครงสร้างบอร์ดชุดใหม่ที่จะขอความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ในเดือน ธ.ค.นี้
  • ล่าสุดเจ้าหนี้เลื่อนลงมติ 3 วาระ เป็นวันที่ 29 พ.ย.นี้ โดยเฉพาะเรื่องการพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู เนื่องจากถูกเสนอเข้ามาในเวลากระชั้นชิด

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังฟื้นฟูกิจการมาราว 4 ปี ปัจจุบันเรียกว่าอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการแต่งตัวเตรียมออกจากแผนฟื้นฟู โดยอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างทุนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนที่จะเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อทำให้ส่วนทุนกลับมาเป็นบวก และกลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ตามเป้าหมายในปี 2568 

ขณะที่กระบวนการปรับโครงสร้างทุนกำลังดำเนินการตามขั้นตอน และผู้บริหารแผนได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟู พร้อมนัดประชุมเจ้าหนี้เตรียมลงมติในวันที่ 8 พ.ย.2567 โดยมีวาระประกอบด้วย

- เพื่อพิจารณาวาระขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสมหลักทรัพย์ที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท

- เพื่อพิจารณาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู โดยการบินไทยจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนกำหนด เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ

แต่กลับพบว่าก่อนการนัดประชุมเจ้าหนี้เพียง 1 สัปดาห์ กระทรวงการคลังได้เสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูเพิ่มเติม และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี ในวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีการระบุในหนังสือคำร้องดังกล่าว ขอเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 ราย ด้วยการบินไทยอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบกับภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ศาลเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 กำหนดให้มีผู้บริหารแผนจำนวน 5 ราย ซึ่งการดำเนินงานปัจจุบันคงเหลือผู้บริหารแผน จำนวน 3 ราย 

ขณะที่ในช่วงระยะเวลาที่เหลือ ก่อนออกจากการฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะต้องตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญและมีผลผูกพันถึงการดำเนินงานต่างๆ ในอนาคต โดยการตัดสินใจที่สำคัญดังกล่าว การบินไทยจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้นของการบินไทย ภายหลังการออกจากการฟื้นฟูกิจการมาร่วมตัดสินใจ และสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ถือหุ้นของการบินไทย เพื่อให้การบริหารแผนฟื้นฟูกิจการและการออกจากการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจึงเห็นสมควรเสนอรายชื่อผู้บริหารแผน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก "พิชัย ชุณหวชิร" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมเป็นคณะผู้บริหารแผนของการบินไทยเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่ 

1.นายปัญญา ชูพานิช ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม 

2.นายพลจักร นิ่มวัฒนา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง

จากการเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการที่กระชั้นชิดต่อการนัดประชุมเจ้าหนี้นั้น ทำให้เจ้าหนี้หลายกลุ่มเสนอเลื่อนวาระพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งผู้บริหารแผนเพิ่มเติม 2 รายออกไปก่อน เนื่องด้วยวาระนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อการวางแผนบริหารงานของการบินไทย มีผลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงต้องการนัดประชุมภายในของเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาแนวทางการลงคะแนนมติอย่างรอบคอบ 

อีกทั้งเจ้าหนี้หลายรายยังกังวลว่า การเสนอตัวแทนของรัฐเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนการบินไทยนั้น จะส่งผลในเรื่องกระบวนการฟื้นฟูกิจการทันที โดยเฉพาะขั้นตอนแปลงหนี้เป็นทุน และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน รวมถึงการพิจารณาโครงสร้างบอร์ดชุดใหม่ที่จะขอความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ในเดือน ธ.ค.นี้

“หากผู้บริหารแผนการบินไทยมี 3 ต่อ 2 เสียงมาจากภาครัฐ ก็อาจจะมีข้อกังขาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) เพราะคลังเป็นเจ้าหนี้การบินไทย หากมีตัวแทนเข้ามากำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน หากกำหนดราคาต่ำเกินไปก็ส่งผลบวกต่อคลังในฐานะเจ้าหนี้ที่จะเข้ามาซื้อ” แหล่งข่าวกล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ

นอกจากนี้ กรณีกระทรวงการคลังเสนอรายชื่อตัวแทนเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูเพิ่มเติม และส่งผลให้มีตัวแทนภาครัฐ 3 ต่อ 2 เสียง เริ่มกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนที่กังวลว่าการบินไทยกำลังกลับไปสู่สถานะสายการบินที่ภาครัฐกำกับดูแล และจะไม่เกิดความคล่องตัวทางธุรกิจ ซึ่งผลกระทบนี้อาจทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ไม่ตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มทุน

อีกทั้งผู้บริหารแผนยังมีสิทธิเสนอชื่อผู้เหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการการบินไทยในส่วนกรรมการอิสระ เพิ่มจากสัดส่วนเก้าอี้ตามสิทธิผู้ถือหุ้น ดังนั้นหากภาครัฐมีบทบาทเป็นผู้บริหารแผนในสัดส่วนเสียงข้างมากจะสะท้อนโครงสร้างบอร์ดการบินไทยที่กำลังจัดตั้ง

อีกทั้งจะมีผลต่อการบริหารงานการบินไทยหลังพ้นแผนฟื้นฟูกิจการ การปรับตำแหน่งฝ่ายบริหาร และแผนจัดหาเครื่องบินตามสิทธิเพิ่มเติมอีก 35 ลำ ที่ก่อนหน้านี้ได้ทำสัญญาไว้กับโบอิง โดยเป็นสัญญาเปิดกว้างที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงคมนาคมได้ส่งตัวแทนเพื่อเป็นผู้บริหารแผนของการบินไทยนั้น เป็นการหารือที่ทางกระทรวงการคลังเล็งเห็นว่าการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ จึงอยากให้กระทรวงคมนาคมส่งตัวแทนเข้าไปช่วยประสานและบริหารงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งอุตสาหกรรมการบิน 

โดยตอนแรกกระทรวงฯ จะส่งปลัดกระทรวงคมนาคมเข้าไปทำหน้าที่นี้ แต่เนื่องจากปลัดฯ ปัจจุบันเป็นบอร์ด กพท. จึงเกรงว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) รวมทั้งจะมอบหมายให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าไปดำเนินการก็อาจมีข้อกังขาเรื่อง Conflict of Interest ท้ายที่สุดจึงเล็งเห็นว่า นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่วางแผนการขนส่งคมนาคมทั้งระบบ

“ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการแทรกแซงทางการเมือง เพียงแต่ต้องการให้อุตสาหกรรมการบินทำงานอย่างเป็นระบบ เนื่องจากสายการบินไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ กระทรวงฯ ก็ต้องการทำให้การทำงานด้านการบินมีประสิทธิภาพ ดูครอบคลุมทั้งระบบอุตสาหกรรม”

ทั้งนี้ การประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2567 เวลา 10.00 น.  มีเจ้าหนี้เข้าร่วมประชุมหลักร้อยราย รวมมูลค่าหนี้ 8 หมื่นกว่าล้านบาท จากจำนวนเจ้าหนี้ทั้งหมด 1.3 แสนล้านบาท โดยเมื่อถึงช่วงของการเปิดลงมติมีเจ้าหนี้บางส่วน เสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อขอเลื่อนลงมติออกไปก่อน โดยเฉพาะวาระ 3 เรื่องการพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู เนื่องจากวาระนี้ถูกเสนอเข้ามาในเวลากระชั้นชิด เมื่อวันที่ 4 พ.ย.67 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดเลื่อนการลงมติออกไปทั้ง 3 วาระ เป็นวันที่ 29 พ.ย.67 นี้