'อีอีซี' สร้างเมืองอัจฉริยะ 'EEC Capital city' รับเป้าหมายไทยสู่ Net Zero

'อีอีซี' สร้างเมืองอัจฉริยะ 'EEC Capital city' รับเป้าหมายไทยสู่ Net Zero

“อีอีซี” ชูโปรเจกต์สร้างเมืองอัจฉริยะ “EEC Capital city” บนพื้นที่ 1.4 หมื่นไร่ กางแผนปั้นเป็นศูนย์ธุรกิจ แหล่งที่อยู่อาศัย ควบคู่พื้นที่สีเขียวกว่า 30% คาดเห็นภาพชัดในปี 2030 รับเป้าหมายไทยสู่ Net Zero

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ร่วมสัมมนา POSTTODAY Thailand Smart City 2025 “การจัดการเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีและ AI เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต” ในหัวข้อ “Smart city เทคโนโลยีในเมืองอัจฉริยะ” โดยระบุว่า บทบาทอีอีซีนำไปสู่สมาร์ทซิตี้ เรื่องนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve Target Industries)

โดยอีอีซีได้แบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็น 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล ยานยนต์ อุตสาหกรรมสีเขียว BCG และภาคบริการ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมสีเขียว BCG และภาคบริการ โดยอุตสาหกรรมที่อีอีซีพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนนั้น จะโฟกัสอยู่ในกลุ่ม 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

1.อุตสาหกรรมอาหาร เพื่อดึงเทคโนโลยีมาแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตรของไทย

2. อุตสาหกรรมประเภทเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ เช่น การทำไบโอดีเซล น้ำมัน SAF เพื่อผลักดันให้เกิดการนำเอาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในไทยมาใช้เพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมเหล่านี้

3.อุตสาหกรรมด้านพลังงาน 

4. อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการจัดการของเสียและรีไซเคิล ซึ่งมองว่า 2- 3 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคจะให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างมาก และอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนผ่านเพื่อรองรับลูกค้าปลายทาง เรื่องการจัดการของเสีย

\'อีอีซี\' สร้างเมืองอัจฉริยะ \'EEC Capital city\' รับเป้าหมายไทยสู่ Net Zero

นอกจากการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว ที่ผ่านมาอีอีซียังพยายามผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้เป็นประตูสู่อีอีซี อำนวยความสะดวกนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเข้ามายังพื้นที่ 3 จังหวัดในอีอีซี โดยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปัจจุบันได้เริ่มก่อสร้าง และมีบางส่วนที่ยังอยู่ระหว่างทำแผนเตรียมก่อสร้าง ประกอบด้วย ท่าเรือมาบตาพุด, ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

“หนึ่งในพื้นที่เมืองอัจฉริยะของอีอีซี จะยังมีโครงการของเอกชนเพื่อพัฒนาเมืองการบิน ให้เป็นพื้นที่ให้คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอย เป็นเมืองปลอดภาษี โดยสนามบินอู่ตะเภานั้นมีแผนพัฒนาให้เป็นสนามบินกระตุ้นการเดินทางและจับจ่ายใช้สอยของคนทุกกลุ่ม คล้ายกับสนามบินชางงีสิงคโปร์ แต่จะพัฒนารองรับกิจกรรมบันเทิง ประเภทคอนเสิร์ตและสนามแข่งรถ F1 เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายในพื้นที่นี้ด้วย”

นายจุฬา กล่าวด้วยว่า อีอีซียังมีแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะเดินหน้าไปด้วยโครงการ EEC Capital city เป็นโปรเจกต์เรื่องการพัฒนาเมืองบนพื้นที่ 1.4 หมื่นไร่ ซึ่งจะสร้างเมืองในรูปแบบเมืองอนาคต อยู่บริเวณพื้นที่ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี อยู่ห่างจากพัทยา-จอมเทียนประมาณ 10 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินอู่ตะเภาประมาณ 15 กิโลเมตร ติดทางหลวงหมายเลข 331 และอยู่ภายในรัศมี 30 กิโลเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภา ครอบคลุมพื้นที่ใกล้รัศมีนิคมอุตสาหกรรม

\'อีอีซี\' สร้างเมืองอัจฉริยะ \'EEC Capital city\' รับเป้าหมายไทยสู่ Net Zero

โดยคอนเซ็ปต์ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ EEC Capital city จะมุ่งเน้น 3 เรื่องคือ Smart – Green – sustainable โดยปัจจุบันกำลังทำคอนเซ็ปต์พัฒนาเมืองนี้อยู่ ซึ่งคาดว่าคนที่จะเข้ามาอยู่อาศัย ส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติ และเทรนด์ทั่วโลกในตอนนี้ต้องสร้างเมืองอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นคอนเซ็ปต์ในเบื้องต้นอีอีซีจะสร้างพื้นที่สีเขียว แหล่งน้ำ สวนสาธารณะและพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นธรรมชาติราว 30% ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเป็นปอดของอีอีซี มีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ

นอกจากนี้ เพื่อตอบโจทย์สมาร์ทซิตี้ จะนำเอาระบบบริหารจัดการ AI มาพัฒนาเพื่อเก็บข้อมูลของเมืองนี้ สร้างเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สามารถนำไปต่อยอดการพัฒนาในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาระบบรีไซเคิล การบริหารจัดการน้ำ สร้างพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้มีสัตว์เข้ามาอยู่เป็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งคอนเซ็ปต์การสร้างเมืองอัจฉริยะ EEC Capital city คาดว่าจะเริ่มเห็นในปี 2030 ดังนั้นจะตอบโจทย์เรื่อง Net Zero ในปี 2050

นายจุฬา กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้อีอีซีกำลังจัดเตรียมทำโครงการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) เพื่อดูแลระบบสาธารณูปโภคในเมือง EEC Capital city ทั้งหมด เพื่อให้ธีมของ Net zero เดินไปได้ และต้องการสร้างมาตรฐานเมืองสีเขียวในพื้นที่นี้ ซึ่งนี่คือโปรเจกต์ที่ทุกคนทั่วโลกจะได้ยินอยู่บ่อยครั้งในช่วงหลังจากนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะดึงความน่าสนใจของอีอีซี ความน่าสนใจของประเทศไทย ให้เป็นที่อยู่อาศัยของคนเข้ามาทำงานในประเทศต่อไป