ทอท.กางแผน 'สุวรรณภูมิ' ฮับการบิน ตั้งเป้ารับผู้โดยสารปีละ 150 ล้านคน

ทอท.กางแผน 'สุวรรณภูมิ' ฮับการบิน ตั้งเป้ารับผู้โดยสารปีละ 150 ล้านคน

ทอท.เร่งแผนฮับการบิน เจรจาสายการบินใหญ่ในกลุ่ม star alliance ทำเที่ยวบินทรานซิสที่สุวรรณภูมิเพิ่มขึ้น หลังจากมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ผู้โดยสารกลุ่มทรานซิสยังมีแค่ 4% ถือว่าอย่างน้อยมากถ้าเทียบกับสิงคโปร์ที่มี 40% พร้อมเร่งลงทุนเพิ่มรับผู้โดยสาร 150 ล้าน

ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินเนื่องจากอยู่กึ่งกลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเดินทางด้วยสายการบินไปยังประเทศสำคัญในเอเชีย และภูมิภาคใกล้เคียงได้ภายในระยะเวลาไม่นานนัก

รัฐบาลได้ตั้งเป้าที่จะผลักดันไทยเป็นฮับการบินของภูมิภาค โดยตั้งเป้าให้สนามบินสุวรรณภูมิติดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดติด 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดของโลก ซึ่งนอกจากการเพิ่มการลงทุนในสนามบิน ยังมีการวางแผนพัฒนาการให้บริการสนามบิน และจับมือกับพันธมิตรระดับโลก

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ "ทอท." กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจการบินทั่วโลกฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสนามบินกว่า 90 ประเทศทั่วโลก นั้นมีจำนวนผู้โดยสารกลับไปเท่ากับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ทำให้ต้องมีการเน้นเรื่องของคุณภาพการให้บริการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การผลักดันยุทธศาสตร์การเป็นฮับการบินของสนามบินสุวรรณภูมิว่าการเป็นฮับการบินนั้นมีประเด็นที่ต้องเร่งรัดคือ การเพิ่มเที่ยวบินที่ผู้โดยสารมาเปลี่ยนเครื่อง (Transit) แล้วเดินทางต่อซึ่งเป็นลักษณะของสนามบินที่เป็นฮับต้องมีเที่ยวบินในลักษณะนี้จำนวนมากซึ่งปัจจุบันสุวรรณภูมิยังมีเที่ยวบิน Transit ไม่มาก คิดเป็นประมาณ 4% ของเที่ยวบินทั้งหมด และในปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 5%

ซึ่งถือว่ายังเป็นปริมาณที่น้อยอยู่เมื่อเทียบกับสนามบินซางฮีที่สิงคโปร์ที่มีเที่ยวบิน Transit ประมาณ 40% ของเที่ยวบินทั้งหมด ซึ่งหากสุวรรณภูมิจะเป็นฮับการบินก็จะต้องมีเที่ยวบินที่มา Transit เพิ่มขึ้นอย่างน้อยคิดเป็นประมาณ 20% ของเที่ยวบินทั้งหมด

เร่งเพิ่มเที่ยวบินทรานซิส

สำหรับเรื่องการเพิ่มเที่ยวบิน Transit ให้มากขึ้น ทอท.จะหารือกับสายการบินขนาดใหญ่ ซึ่งรวมทั้งการบินไทย และสายการบินในกลุ่ม star alliance ซึ่งมีสมาชิกอยู่กว่า 25 สายการบินเพื่อให้มีการวางเส้นทางการบินที่จะมา Transit ที่สนามบินสุวรรณภูมิมากขึ้น

สำหรับกลยุทธ์อื่นๆ ที่จะนำไปสู่การเป้าหมายศูนย์กลางการบินภูมิภาค และผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกนั้น นายกีรติ ระบุว่าปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เร่งรัดแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารให้ได้ถึง 150 ล้านคนต่อปีในปี 2573 โดยปัจจุบัน ทอท.ได้เปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมงควบคู่ไปกับโครงการขยายขีดความสามารถของสนามบินอย่างต่อเนื่อง

ทอท.กางแผน \'สุวรรณภูมิ\' ฮับการบิน ตั้งเป้ารับผู้โดยสารปีละ 150 ล้านคน

เร่งลงทุนรับผู้โดยสารเพิ่ม

เช่น โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 80 ล้านคนต่อปี โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) รองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 70 ล้านคนต่อปี และก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รวมทั้งได้มีการสร้างพื้นที่สวน พื้นที่สีเขียว การพักผ่อนหย่อนใจภายในสนามบินเพื่อทำให้ผู้โดยสารได้รับความพึงพอใจในการใช้บริการมากที่สุด

ทอท.กางแผน \'สุวรรณภูมิ\' ฮับการบิน ตั้งเป้ารับผู้โดยสารปีละ 150 ล้านคน

 

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เพิ่มปริมาณรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการให้รองรับได้สูงสุดที่ 50 ล้านคนต่อปี เพื่อเป็นสนามบินหลักรองรับเที่ยวบินภายในประเทศ และเที่ยวบินระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โครงการก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นพื้นที่ศูนย์กลางที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟสายสีแดงโดยตรง พื้นที่จอดรถยนต์ พร้อมพื้นที่สันทนาการ พื้นที่พาณิชย์อื่นๆ เพื่อยกระดับการให้บริการของ ทดม. โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ควบคู่ไปกับการศึกษาแผนก่อสร้างท่าอากาศยานใหม่เพื่อยกระดับศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการบินของประเทศไทย อาทิ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนา และแผนศึกษาโครงการพัฒนา Seaplane & Ferry Terminal พัฒนาพื้นที่จอดอากาศยานขึ้น-ลงในทะเลรองรับผู้โดยสารชั้นสูงอีกด้วย

มุ่งสร้างสนามบินตอบโจทย์ยั่งยืน

นอกจากการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ทอท.ยังให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นต้นแบบ Green Airport ท่าอากาศยานสากลชั้นนำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้พลังงานสะอาดมาผลิตพลังงานไฟฟ้า 37.81 เมกะวัตต์ตลอดอายุโครงการ 20 ปี สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานได้มากถึง 25%

ทอท.ยังมีนโยบายเปลี่ยนรถในสนามบินทั้งหมดเป็นระบบยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมให้ใช้รถแท็กซี่ไฟฟ้ามาให้บริการแก่ผู้โดยสาร ตลอดจนการติดตั้งสถานี EV Charge สำหรับรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าอีกด้วย ทอท.ยังได้ให้ความสำคัญด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ครอบคลุมทั้งด้านการลงทุนปิโตรเลียมและการวิจัยผลิต บนเป้าหมายการให้บริการน้ำมัน SAF สำหรับอากาศยานที่เข้าและออกประเทศไทยภายใน 3 ปี ไปจนถึงการเป็นศูนย์กลางการผลิต และการจําหน่าย SAF ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถให้บริการกับสายการบินที่บินเข้ายุโรปที่ต้องมีส่วนผสมน้ำมัน SAF ในอีก 2 ปีข้างหน้า

เพิ่มการใช้เทคโนโลยีในสนามบิน

ทอท.ยังได้นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้โดยสารทั้ง 6 ท่าอากาศยาน ให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว

ลดระยะเวลาการรอคอย และบรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทอท. ได้เปิดใช้งานระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสารเพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งจะช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวของแต่ละจุดบริการภายในท่าอากาศยานด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์