"อินเดีย" ‘ตลาดโตเร็ว’โลจิสติกส์ปัญหาใหญ่นักลงทุน

"อินเดีย" ‘ตลาดโตเร็ว’โลจิสติกส์ปัญหาใหญ่นักลงทุน

"สคต.เมืองนิวเดลี "อินเดีย เผย ตลาดอินเดียโตเร็ว กำลังซื้อสูง ความต้องการสินค้าเพิ่มต่อเนื่อง พร้อมดึงนักลงทุนต่างชาติ โอกาสผู้ประกอบการไทย แนะศึกษากฎหมายและวัฒนธรรมแต่ละรัฐ ชี้ระบบโลจิสติกส์เป็นปัญหาสำหรับการขนส่งสินค้า แถมต้องเผชิญภาษีนำเข้าสูง

"อินเดีย"มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน และชนชั้นกลางที่เติบโตเร็ว กำลังซื้อและความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารแปรรูป และเทคโนโลยี 

นางสาวสุจิรา ปานจนะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย กล่าวกับ"กรุงเทพธุรกิจ "ว่า รัฐบาลอินเดียมีนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น Make in India และ Production-Linked Incentive (PLI) ที่สร้างโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนและสร้างโรงงานในอินเดีย

ทั้งนี้อินเดียมีความโดดเด่นในด้านการเปิดตลาดด้านบริการและเทคโนโลยี ซึ่งธุรกิจด้านไอที ฟินเทค และโลจิสติกส์เติบโตก้าวกระโดด  รวมทั้งอินเดียมีแรงงานด้านเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นโอกาสดีในการร่วมลงทุนหรือจ้างงานในธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

สำหรับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อินเดีย ช่วยลดภาษีนำเข้าและส่งเสริมการค้า จำนวน 83 รายการ และ FTA อาเซียน-อินเดีย จำนวน 5,200 รายการ 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวสูง และมีนโยบายดึงการลงทุนจากต่างประเทศ แต่นักลงทุนต่างประเทศต้องเผชิญความท้าทายความและความซับซ้อนของระบบราชการ เพราะอินเดียมีระบบการปกครองที่ประกอบด้วยรัฐบาลกลางและรัฐบาลของแต่ละรัฐ (State Governments) ทำให้มีหน่วยงานราชการแตกต่างทั้งระดับกลางและระดับรัฐ 

รวมทั้งทำให้การติดต่อประสานงานหน่วยงานราชการซับซ้อนและต้องใช้เวลามาก โดยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับแต่ละรัฐแตกต่างกันด้วย

ภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างกัน

นอกจากนี้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและตลาด ซึ่งทำให้การวางแผนและดำเนินธุรกิจต้องปรับตัวหลายด้าน เพราะอินเดียประกอบด้วย 28 รัฐและ 8 ดินแดนสหภาพ โดยมีภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างกัน 380 ภาษา และศาสนาหลัก เช่น ฮินดู อิสลาม คริสต์ และซิกข์ 

สำหรับความหลากหลายนี้ส่งผลต่อรสนิยมและความต้องการของผู้บริโภค เช่น อาหารหรือสินค้าภาคเหนืออาจไม่เหมาะกับตลาดภาคใต้ ขณะที่ภาษาอังกฤษและภาษาฮินดีใช้กันแพร่หลาย แต่บางตลาดท้องถิ่นต้องใช้ภาษาถิ่นเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ​

รวมทั้งการแข่งขันสูงนอกจากบริษัทท้องถิ่นแล้ว ยังมีบริษัทจากต่างประเทศจำนวนมากที่เข้ามาในตลาดอินเดีย ทำให้การแข่งขันด้านราคาและคุณภาพสินค้าเข้มข้น

ปัญหาใหญ่ "โลจิสติกส์-ภาษีนำเข้า"

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ยังเป็นปัญหาแม้ว่ารัฐบาลอินเดียจะลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน แต่ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ในบางพื้นที่ยังคงท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมาตรฐานในไทย

ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมา อินเดียออกมาตรการทางภาษีนำเข้าสูง (High Import Duties) ในสินค้าบางประเภทเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ เช่น สินค้าประเภทพลาสติกและเครื่องประดับที่มีอัตราภาษีสูง ทำให้ผู้ส่งออกต้องปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน ภาษีสินค้าและบริการ (GST)

ทั้งนี้ระบบภาษีอินเดียมีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ทั้งในระหว่างรัฐและสินค้าประเภทต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอางที่ต้องเสียภาษีสูงถึง 28% ขณะที่สินค้าพื้นฐานอาจอยู่ระหว่าง 5-18% ผู้ประกอบการต้องเข้าใจ HS Code ที่ถูกต้องของสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงความซับซ้อนในการประเมินภาษีผิดพลาด​

นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การควบคุมใบอนุญาต (Licensing Requirements) รวมถึงสินค้าบางประเภทต้องได้รับใบอนุญาตก่อนนำเข้าสู่ตลาด เช่น สินค้าด้านอาหารและยา ซึ่งต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับ FSSAI (Food Safety and Standards Authority of India) เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้ามีคุณภาพและปลอดภัย

มาตรการจำกัดการนำเข้า เช่น ยางล้อ โทรทัศน์สี (ผู้นำเข้าต้องยื่นขออนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศล่วงหน้า และต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะนำเข้าได้) มาตรฐานคุณภาพและการทดสอบ (Quality Standards and Testing)

สินค้าที่นำเข้าโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบและการทดสอบตามมาตรฐานที่กำหนดโดย Bureau of Indian Standards (BIS) คล้ายกับมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทย โดยเจ้าหน้าที่จะต้องไปตรวจโรงงานที่ไทยและมีการส่งสินค้ามาตรวจที่ห้องปฏิบัติการ จึงทำให้การนำเข้าสินค้าใช้เวลานานขึ้น

ข้อบังคับฉลากต้องมีภาษาท้องถิ่น

ข้อกำหนดด้านบรรจุภัณฑ์และฉลาก (Packaging and Labeling Requirements) อินเดียมีข้อบังคับเกี่ยวกับฉลากสินค้า เช่น ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา น้ำหนัก วันหมดอายุ และต้องมีการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นในบางกรณีเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรการจำกัดด่านนำเข้า เช่น กรณีผลไม้ตัดดอกสดให้ผ่านทางด่านเท่าอากาศยานเจนไน

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบกระทันหัน และเพิ่มแบบฟอร์มในการนำเข้าสินค้า เช่น ศุลกากรอินเดียให้ผู้ส่งออกแสดงใบกำกับสินค้า (INVOICE) และระบุมูลค่าFOB ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่อ่อนไหวในการทำธุรกิจที่มีการซื้อขายผ่านนายหน้า 

สำหรับการแก้ปัญหาที่ผ่านทางผู้ช่วยทูตพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการประสานแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยมายังอินเดียได้เพิ่มมากขึ้น

แนะสร้างพันธมิตรนักธุรกิจท้องถิ่น

ส่วนข้อเสนอแนะในการทำธุรกิจในอินเดีย นักลงทุนหรือผู้ประกอบการไทยต้อง สร้างพันธมิตรในท้องถิ่น การมีคู่ค้าในอินเดียช่วยลดอุปสรรคด้านการดำเนินงานและเพิ่มความเข้าใจในตลาดท้องถิ่นปรับผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคอินเดียการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละภูมิภาคจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการได้ดีขึ้น

รวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าหรือโครงการจับคู่ธุรกิจจะช่วยเปิดโอกาสในการขยายเครือข่ายและเข้าถึงลูกค้าใหม่ ซึ่งหลายหน่วยงานราชการของไทยให้การสนับสนุน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

นอกจากนี้ สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการทำตลาดในอินเดีย

1.อาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)

2.ผลไม้สดและแปรรูป

3.เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา (Cosmetics & Wellness Products)

4.อุปกรณ์ตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ (Home Decor & Furniture)

5.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (Automotive & Parts) เช่น ยางพาราและชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์เสริมรถยนต์ เช่น เบาะนั่ง อุปกรณ์แต่งรถ และระบบเสียง

6.อัญมณีและเครื่องประดับ

7.สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Agricultural Products & Health Supplements)