กรมส่งเสริมสหกรณ์ วางกรอบปี 68 ปล่อยกู้กองทุน กพส. 5 พันล้านบาท

กรมส่งเสริมสหกรณ์ วางกรอบปี 68 ปล่อยกู้กองทุน กพส. 5 พันล้านบาท

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าบริหารเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์เต็มศักยภาพ หลัง 3 ปี ช่วยสหกรณ์ลดต้นทุนกว่า 200 ล้านบาท สมาชิกได้รับประโยชน์ กว่า 300,000 ราย วางกรอบปี 68 ปล่อยกู้กองทุน 5,000 ล้านบาท

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เปิดเผยว่า  ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ครั้งที่ 1 ประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ.2568   ได้รับทราบผลการดำเนินงานของ “กองทุนพัฒนาสหกรณ์” ในช่วงที่ผ่านมา เป็นที่น่าพึงพอใจ เนื่องด้วยกองทุนพัฒนาสหกรณ์ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ทุกประเภท ผ่านการให้สินเชื่อแก่สหกรณ์ เพื่อใช้ดำเนินธุรกิจและเป็นทุนหมุนเวียนในการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรสมาชิกได้เป็นอย่างดี

กรมส่งเสริมสหกรณ์ วางกรอบปี 68 ปล่อยกู้กองทุน กพส. 5 พันล้านบาท

 ซึ่งในรอบระยะเวลา 3 ปีย้อนหลัง (พ.ศ.2565-2567) ปรากฎว่ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้มีการอนุมัติเงินกู้เฉลี่ย 4,362.24 ล้านบาท/ปี ให้แก่สหกรณ์จำนวนเฉลี่ย 1,778 สหกรณ์/ปี มูลค่าเงินกู้เฉลี่ย 2.45 ล้านบาท/สหกรณ์ นอกจากนี้ ด้วยเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ส่งผลให้สหกรณ์มีปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20,174.10 ล้านบาท/ปี สามารถลดต้นทุนจากการกู้ยืมแหล่งเงินทุนอื่น คิดเป็นมูลค่า 257.81 ล้านบาท/ปี สมาชิกได้รับประโยชน์ รวมทั้งสิ้น 320,090 คน/ปี พร้อมลดต้นทุนในการประกอบอาชีพของสมาชิก 211.56 ล้านบาท/ปี อีกทั้งเพิ่มรายได้จากการขายผลผลิตผ่านสหกรณ์ คิดเป็นมูลค่า 102.42 ล้านบาท

“ปัจจุบันพบว่ามีเกษตรกรสมาชิกได้รับประโยชน์ กว่า 300,000 ราย จากสัญญาจำนวนกว่า 1,700 สัญญา ที่สหกรณ์กู้ยืมไปใช้เป็นแหล่งเงินทุนสนันสนุนสมาชิก รวมถึงลดต้นทุนการประกอบอาชีพและการกู้ยืมแหล่งเงินทุนอื่น ได้มากกว่า 200 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์มีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟู และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรสมาชิกให้ดีขึ้น ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรสมาชิก”

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนพัฒนาสหกรณ์ในอนาคต “กองทุนพัฒนาสหกรณ์ จะยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าบริหารเงินกองทุนฯ อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาส ในการเข้าถึงแหล่งทุนของสหกรณ์ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และสหกรณ์ใหม่ พร้อมทั้งยกระดับความเข้มข้นในกระบวนการทำงานให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการวิเคราะห์และประเมินสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการเข้าถึงเงินกู้ กพส. จะต้องมีการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการใช้เงินกู้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

 โดย ในปี พ.ศ.2568 กองทุนพัฒนาสหกรณ์ กำหนดเป้าหมายวางกรอบการให้สินเชื่อแก่สหกรณ์อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์นำไปให้บริการแก่สมาชิก ผ่าน “โครงการปกติ” และ “โครงการพิเศษ” ของกองทุนพัฒนาสหกรณ์

 ทั้งนี้ ปี พ.ศ.2568 กองทุนพัฒนาสหกรณ์ วางกรอบวงเงินกู้ จำนวน 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 จำนวน 300 ล้านบาท (จากกรอบวงเงินปี 67 จำนวน 4,700 ล้านบาท) 

ด้วยความตั้งใจสานต่อการภารกิจงานส่งเสริมกิจการสหกรณ์ และตอบสนองความต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการลงทุนด้านแหล่งน้ำ การปรับปรุงฟาร์มและพันธุ์สัตว์ รวมทั้งการนำใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตรมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยแบ่งการอนุมัติเงินกู้ออกเป็น 2 โครงการ ได้แก่

กรมส่งเสริมสหกรณ์ วางกรอบปี 68 ปล่อยกู้กองทุน กพส. 5 พันล้านบาท

1.โครงการปกติ วงเงิน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยตามชั้นลูกหนี้ (ร้อยละ 1.5 – 4) เพื่อให้สินเชื่อแก่สหกรณ์ในการดำเนินธุรกิจ เป็นทุนหมุนเวียนในการให้กู้แก่สมาชิก การรวบรวมผลผลิต การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย หรือลงทุนในทรัพย์สิน

2.โครงการพิเศษ วงเงิน 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำ (ร้อยละ0-1) จำนวน 17 โครงการ มุ่งเน้นการการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ อีกทั้งยังมีการสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกในกรณีได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ