'ไทยออยล์' เปิด 4 แผนธุรกิจปี68 ยันโครงการ CFP เสร็จทันตามกำหนด

'ไทยออยล์' เปิด 4 แผนธุรกิจปี68 ยันโครงการ CFP เสร็จทันตามกำหนด

"ไทยออยล์" เผยกลยุทธ์ธุรกิจปี 2568 มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รับแม้ภาพรวมปิโตรเคมียังท้าทาย มั่นใจในศักยภาพและโอกาสการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งบริหารจัดการโครงการพลังงานสะอาด (CFP) สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังคงมีความผันผวน แต่ยังคงมีปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมพลังงานและโรงกลั่นในปี 2568 อยู่บ้าง โดยความต้องการน้ำมันอากาศยานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของเที่ยวบินพาณิชย์ โดยเฉพาะในเอเชียที่มีอัตราการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ  COVID-19 คลี่คลายลง

ไทยออยล์ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดประมาณ 50%  รวมถึงอุปสงค์ของน้ำมันดีเซลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชีย ส่วนตลาดน้ำมันเบนซินแม้ความต้องการใช้ยังคงเติบโตแต่อาจจะได้รับแรงกดดันจากอุปทานของโรงกลั่นใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการผลิตในปีหน้า ทำให้ค่าการกลั่นมีแนวโน้มฟื้นตัวได้บ้างในปี 2568 อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังคงจะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจโรงกลั่นในระยะยาว

ทั้งนี้ ไทยออยล์พร้อมรับมือกับความท้าทายและคว้าโอกาสในการเติบโตโดยกำหนดกลยุทธ์หลัก 4 ด้านในปี 2568 ประกอบด้วย

1. เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโรงกลั่น (Strengthen Refinery Business) และ เร่งเดินหน้าโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งไทยออยล์ให้ความสำคัญกับโครงการพลังงานสะอาดที่ถือเป็นกุญแจหลักในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับไทยออยล์ในระยะยาว รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการเพิ่มผลผลิต (Productivity Improvement) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและควบคุมต้นทุน 

\'ไทยออยล์\' เปิด 4 แผนธุรกิจปี68 ยันโครงการ CFP เสร็จทันตามกำหนด

สำหรับความคืบหน้าโครงการ CFP มีความสำเร็จส่วนแรก คือ การทดลองเดินเครื่องจักรหน่วยกำจัดกำมะถันในน้ำมันดีเซล (HDS-4) ตั้งแต่เดือนก.พ. 2567 เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐาน Euro 5 ซึ่งสนับสนุนนโยบายการใช้น้ำมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นของภาครัฐในต้นปี 2567 โครงการ CFP อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างหน่วยผลิตต่างๆ และได้นำเครื่องจักรหลักเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ หน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 4 (CDU-4) มีความคืบหน้าไปมากกว่าส่วนงานอื่นๆ ในขณะที่หน่วย Residue Hydrocracking Unit (RHCU) ซึ่งเป็นหน่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนน้ำมันเตา และยางมะตอยให้เป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลนั้น อยู่ระหว่างเร่งติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรและเชื่อมต่อระบบท่อต่างๆ โดยเป็นหน่วยผลิตที่มีความสลับซับซ้อนอยู่ในพื้นที่จำกัด จึงมีความคืบหน้าของงานน้อยกว่าหน่วยผลิตอื่น 

2. ขยายห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain Extension) มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ  เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย และขยายตลาดไปยังประเทศที่มีศักยภาพสูง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อยอดธุรกิจสารเคมีในกลุ่มสารฆ่าหรือยับยั้งเชื้อโรคและสารลดแรงตึงผิว (Disinfectant & Surfactants: D+S) 

โดยมีบทบาทสำคัญในตลาดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่มีแนวโน้มเติบโตสูง นอกจากนี้ ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน TOP for The Great Future ไทยออยล์ยังเดินหน้าศึกษาธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. และพันธมิตรอื่นๆ เช่น Bio surfactant, Blue หรือ Green Hydrogen, น้ำมันอากาศยานชีวภาพ (Bio Jet), การดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) 

3. เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน (Financial Strength) ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน และรักษาอันดับความน่าเชื่อถือให้อยู่ในระดับน่าลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

4. ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน (Drive for Sustainability) มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างคุณค่าให้กับสังคมและชุมชน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น การส่งเสริมการศึกษา การสร้างอาชีพ และการเข้าถึงสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล

“เรามั่นใจว่ากลยุทธ์ทั้ง 4 ด้านนี้จะช่วยให้ไทยออยล์สามารถรับมือกับความท้าทายและบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว พร้อมสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้ถือหุ้น และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย”

ทั้งนี้ ไทยออยล์มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาช่วงของ UJV - Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (“Samsung”), Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (“Petrofac”)  และ Saipem Singapore Pte. Ltd. (“Saipem”) ได้ลงมติจะไม่ดำเนินงานก่อสร้างโครงการ CFP หาก UJV– Samsung, Petrofac และ Saipem ไม่ชำระหนี้ค้างชำระทั้งหมด ซึ่งไทยออยล์ตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้รับเหมาช่วงที่ไม่ได้รับเงินดังกล่าว 

โดยไทยออยล์ได้มีการทำหนังสือเร่งรัดให้ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ตลอดจนบริษัทแม่ของ UJV– Samsung, Petrofac และ Saipem ชำระค่าตอบแทนค้างจ่ายให้แก่บริษัทผู้รับเหมาช่วงมาโดยตลอด เพราะเป็นหน้าที่ตามเงื่อนไขของสัญญารับเหมาช่วง

จากกรณีดังกล่าว ไทยออยล์และผู้รับเหมาช่วง ต่างเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ทำตามสัญญาของ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ดังนั้น การเร่งบริหารจัดการโครงการ CFP จึงเป็นเป้าหมายหลักและเร่งด่วน ที่ไทยออยล์มุ่งมั่นในการดำเนินการก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยได้ติดตามความคืบหน้าเหตุการณ์ล่าสุดอย่างใกล้ชิด 

และได้ประเมินผลกระทบทั้งด้านแผนงานของโครงการ (Project Timeline) ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธุรกิจ รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไทยออยล์ ตลอดจนเตรียมแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อผลักดันการเดินหน้าโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จอย่างละเอียดรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของไทยออยล์และผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ

ซึ่งปัจจุบัน คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นปี 2568 ถึงแม้ว่า สถานการณ์การเรียกร้องค่าตอบแทนค้างจ่ายของผู้รับเหมาช่วงจาก UJV– Samsung, Petrofac และ Saipem จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ CFP ให้ล่าช้า แต่ก็ไม่ได้ทำให้โครงการ CFP จะต้องเลื่อนเปิดดำเนินการออกไปอย่างไม่มีกำหนดแต่อย่างใด

"แม้จะยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายอีกมาก ไทยออยล์ยังมุ่งมั่นที่จะเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว"