“แจกชาวนาไร่ละ1,000”คืนชีพ ควัก3.8หมื่นล้าน“สวน”มติครม.จ่ายตรง
ราคาข้าวที่ทำปรับตัวลดลงในช่วงสิ้นปี เพราะเป็นฤดูการเก็บเกี่ยว ปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดพร้อมกันขณะที่ผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ชาวนาต่างเรียกร้องขอรับการช่วยเหลือจากรัฐโดยเฉพาะโครงการไร่ละ1,000 ซึ่งในที่สุดรัฐบาลเคาะจ่าย แต่ไม่เกินคนละ 10 ไร่เท่านั้น
ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงช่วงธ.ค.ต่อเนื่องถึงม.ค. ชาวนาทั่วประเทศกำลังลงมือเก็บเกี่ยวผลผลิตนาปี ซึ่งเป็นการเพาะปลูกหลักโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ดังนั้นโอกาสที่ราคาข้าวจะผันผวนตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจำนวนมากย่อมเกิดขึ้นได้ มาตรการช่วยเหลือชาวนาในรูปแบบต่างๆจึงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 กำหนดเป็นหลักการว่า “ในการจัดทำมาตรการ / โครงการ เพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และภาคเกษตรต่อจากนี้ไปให้ทุกหน่วยงานหลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตร โดยตรงแก่เกษตรกรและให้พิจารณาดำเนินมาตรการ / โครงการ ในลักษณะที่เป็นการสนับสนุน การเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity) ของภาคการเกษตร การพัฒนาภาคเกษตรตลอด ห่วงโซ่อุปทาน หรือ เป็นการยกระดับกระบวนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก้สินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกร สามารถสร้างรายได้ของตนเอง ได้อย่างเพียงพอได้ในระยะยาว และดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และมีความยั่งยืนต่อไปนั้น
เมื่อ 19 พ.ย.2567จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบหลักการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาทโดยที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลัง หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปต่อไป
“รัฐบาล จะดูแลกลุ่มเกษตรกรด้วยการช่วยเหลือค่าครองชีพผ่านการจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าโครงการให้ไม่เป็นภาระต่องบประมาณในระยะยาว โดยอาจปรับกรอบรายละเอียดโครงการบางส่วน”
รายงานข่าวแจ้งว่า หากรัฐบาลจะจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท โดยจำกัดครัวเรือนละ 10 ไร่ จะต้องใช้เงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และสามารถใช้ทะเบียนเกษตรกรเดิมที่มีอยู่ได้ทันที ทั้งนี้ชาวนาจะมีที่ดินเฉลี่ย 15-20 ไร่ หากมาตรการนี้ผ่านความเห็นชอบก็จะทำให้ชาวนาไทยจะได้เงินจ่ายตรงจากรัฐบาลครัวเรือนละ 10,000 บาท
สำหรับขั้นตอนจากนี้ หากกระทรวงการคลังได้ข้อสรุปแล้วจะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวหรือนบข.ซึ่งมีพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
อย่างไรก็ตามด้านนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ครั้งที่ 1/2567ว่า ในวันที่ 20 พ.ย.2567 จึงได้หารือกับ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ก่อนนำเสนอที่ประชุมนโยบายข้าวแห่งชาติ(นบข.) ในวันจันทร์ที่ 25 พ.ย.2567 นี้เพื่อจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)สัญจรที่เชียงใหม่ปลายเดือนนี้ ต่อไป
โดยผลการหารือ ได้ข้อสรุป จะเสนอโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชาวนามากกว่าเมื่อเทียบกับโครงการช่วยสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท สูงสุดครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ เพราะเกษตรกรรายย่อยของไทย ส่วนใหญ่ มีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่เท่านั้น
“ในวันจันทร์ที่ 25 พ.ย.นี้ คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต จะเสนอการช่วยเหลือชาวนาในโครงการช่วยสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว 1,000 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ ในงบประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท เพราะหากช่วยเหลือ 500 บาทต่อไร่ สมมุติชาวนามีที่นาเพียง 8 ไร่ ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือเพียง 4,000 บาทต่อครัวเรือน แต่หาก 1,000 บาทต่อไร่จะได้รับการช่วยเหลือ 8,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่เป็นรายย่อยมีที่ดินน้อย”
ด้านณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ภายหลังจากคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง มาเป็นสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินจำนวน 27,550.96 ล้านบาท โดยให้ชาวนาได้รับเงินชดเชยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลผลผลิต โดยพิจาณาตามกรอบวงเงินที่มีอยู่ คือ 29,980.1645 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลือจะเสนอ 2 โครงการคู่ขนาน เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ศูนย์ข้าวชุมชนเกิดความเข้มแข็งต่อไป และไม่เป็นการเพิ่มภาระให้รัฐบาล อย่างไรก็ตาม การจะเดินหน้าโครงการใหม่นี้ได้ จะต้องมีการเสนอขอเปลี่ยนแปลงมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่ระบุไว้ว่า ให้หน่วยงานหลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตร โดยตรงแก่เกษตรกร
พร้อมกันนี้ยังได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการข้าวตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย 2 คณะ ได้แก่ 1. คณะทำงานบริหารจัดการเงินอุดหนุนให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยมีอธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานฯ รัฐบาล เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการรับเงินอุดหนุนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อีกทั้งต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ ในการดำเนินการตามโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และ 2. คณะทำงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 ตามที่นบข. มีมติเห็นชอบ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 เป้าหมายรวม 8.50 ล้านตัน วงเงินรวมทั้งสิ้น 60,085.01 ล้านบาท จำแนกเป็น วงเงินสินเชื่อ 50,481.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 9,604.01 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 และ 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2567/68 โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. อนุมัติ ในวันที่ 29 พ.ย.67 ต่อไป