สะท้อนมุมมอง “ทักษิณ” เศรษฐกิจ-จุดยืนไทย บนเวที Forbes

สะท้อนมุมมอง “ทักษิณ” เศรษฐกิจ-จุดยืนไทย บนเวที Forbes

“ทักษิณ” แชร์มุมมองเศรษฐกิจและจุดยืนไทยบนเวทีโลกผ่านการประชุมซีอีโอ Forbes ระบุไทยไร้ข้อขัดแย้งพร้อมรับการลงทุนใหม่ หนุนสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศูนย์กลางดิจิทัล

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมพูดคุยกับสตีฟ ฟอร์บส์ ประธานและบรรณาธิการบริหาร Forbes Media ปิดท้ายช่วงกาล่าดินเนอร์ในงานประชุมซีอีโอระดับโลก “Forbes Global CEO Conference” ครั้งที่ 22 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้ธีม “New Paradigm” เจาะลึกถึงโลกอนาคตที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยภายในงานรวบรวมผู้นำทางธุรกิจที่ทรงอิทธิพลจากทั่วโลกไว้กว่า 400 คน 

นายทักษิณ กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ไม่มาก เป็นเพราะความระมัดระวังมากเกินไปของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการควบคุมธนาคารพาณิชย์เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติทางการเงินขึ้นอีกครั้งเหมือนในปี 2540 และอีกสาเหตุหนึ่งคือขณะนี้ภาคการผลิตของไทยมีแต่อุตสาหกรรมที่กำลังลับฟ้า หรืออยู่ในช่วง Sunset 

ในกรณีของธนาคารกลาง ซึ่งควรจะมีหน้าที่หลัก 2 อย่าง คือ การดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และการดูแลธนาคารพาณิชย์ แต่บางครั้งพวกเขามีความเข้มงวดมากเกินไป ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ จนทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจแห้งเหือด 

”แน่นอนว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ แต่พวกเขาก็ควรจะต้องรับฟังด้วย คนที่ทำงานในธนาคารกลางเป็นคนมีความสามารถ เรียนได้เกรด 4 และจบด็อกเตอร์ แต่พวกเขาจะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และมองในมุมของภาคธุรกิจด้วย เช่นเดียวกับนโยบายของทรัมป์ในการตั้งคณะกรรมการเงาเพื่อตรวจสอบการทำงานของธนาคารกลางสหรัฐ“

นายทักษิณ กล่าวถึงแนวทางหนึ่งในการศึกษาแนวคิดการออกเหรียญ Stable Coin เงินบาท ที่มีพันธบัตรหนุนหลัง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเพิ่มสภาพคล้องให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเหรียญดังกล่าวสามารถนำไปใช้แลกเปลี่ยนได้ แต่จะไม่ได้ผลตอบแทน ขณะที่หากถือเหรียญเก็บไว้จะได้รับดอกเบี้ย

ชี้ทางรอดธุรกิจเล็ก

นายทักษิณ กล่าวว่า ไอเดียที่ดีและและการมีโมเดลธุรกิจที่ขายได้เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก หลังจากนั้นเงินจะตามมาเอง เม็ดเงินที่มีอยู่มากมายบนโลกต้องการลงทุนกับสิ่งที่จะสร้างผลตอบแทนให้ ซึ่งถ้าธุรกิจเหล่านี้มีพื้นฐานที่ดี เชื่อว่าเงินลงทุนจะไหลมาสู่ธุรกิจได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่ธุรกิจไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจีน ซึ่งได้เปรียบเรื่องต้นทุน เนื่องจากมีปริมาณการผลิตจำนวนมากทำให้ประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ดังนั้นธุรกิจไทยจะต้องมีวิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสิ่งที่แตกต่างและแข่งขันได้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองจะต้องปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศเช่นกัน โดยการให้ธุรกิจต่างชาติที่ต้องการขายสินค้าให้กับคนไทยต้องจดทะเบียนให้ถูกต้องและเสียภาษี นอกจากนั้นสินค้าที่ขายให้คนไทยจะต้องผ่านมาตรฐานเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อความเป็นธรรม

เล็งปฎิรูประบบภาษี

นายทักษิณ กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันมีแนวคิดในการปฏิรูปภาษีทั้งระบบเพื่อจะได้จัดเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่จะต้องไม่ใช้วิธีการเพิ่มอัตราภาษีเงินได้ โดยจะต้องพิจารณาอัตราภาษีเงินได้ที่สามารถแข่งขันได้ และมีระบบการคืนภาษีให้กับคนที่มีรายได้ต่ำว่าเกณฑ์ หรือระบบที่เรียกว่า Negative Income Tax โดยการปฏิรูปภาษีจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปทีละส่วนเพื่อไม่ให้กระทบกับคนจำนวนมาก

”หลักก็คือ ถ้าอยากเก็บภาษีได้มากขึ้น ต้องมีข้อเรียกร้องที่น้อยลง ซึ่งการลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้จะทำให้คนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และการจัดเก็บภาษีจะต้องครอบคลุมกลุ่มคนมากขึ้นด้วย“

ทั้งนี้ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 

เตรียมรับกำแพงภาษีสหรัฐ

นายทักษิณ กล่าวว่า มาตรการกีดกันทางการค้า ด้วยกำแพงภาษีที่สูงขึ้น ตามนโยบานของทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้า 20% จากประเทศที่เกินดุลการค้า และเพิ่มขึ้น 60% สำหรับสินค้าจึน มองว่าสุดท้ายแล้วผลชาวอเมริกันจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น

“เชื่อว่ามาตรการ Protectionism ภายใต้การนำของทรัมป์จะยิ่งเข้มงวด และจะทำให้การค้าโลกถดถอยกลับไป 50 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะเป็นยุคของโลกาภิวัตน์”

สำหรับจุดยืนของประเทศไทย มองว่าเราไม่ต้องการความขัดแย้ง ท่ามกลางการแข่งขันก็สามารถร่วมมือกันในด้านใดด้านหนึ่งได้ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งมีจุดที่ต้องร่วมมือกัน แม้จะแข่งขันกันอยู่ก็ตาม

“จากนี้ไปเริ่มเห็นสัญญาณว่าหลายอุตสาหกรรมทั้งจากสหรัฐและจีนต้องการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ไร้ข้อขัดแย้ง อีกทั้งไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าที่เพียงพอ มีที่ดินปริมาณมากที่ยังสามารถพัฒนาได้ มีแรงงานฝีมือ และการเพิ่มมาตรการภาษีที่จูงใจ”

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าไฟฟ้าของไทยยังอยู่ในระดับสูงเกินไป หากสามารถปฏิรูปราคาพลังงาน โดยหักลบภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ได้ และเชื่อว่าจะทำให้ไทยน่าดึงดูดมากขึ้น รวมทั้งเมื่อมีการลงทุนในไฟฟ้าพลังงานสะอาด และ Smart Grid

นายทักษิณ กล่าวทิ้งท้ายว่า ใน 5 ปีข้างหน้ามี 2 เรื่องหลักที่ไทยต้องทำคือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอฟต์พาวเวอร์ และธุรกิจการบริหาร และ 2.การสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ดึงดูดอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เอไอ และดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามาลงทุนในประเทศ